สหภาพ‘ทีโอที-แคท’วอน‘บิ๊กตู่’ใช้ม.44ยุบรวมเหลือบอร์ดเดียว

30 ส.ค. 2560 | 10:29 น.
เริ่มมีกระแสตีกลับไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ สรท. และ สหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทร คมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ สรท.กสท ผนึกกำลังออกแถลงการณ์คัดค้านแยกทรัพย์สินของ ทีโอที ไปตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด หรือ (NBN Co.) ส่วนของ กสท จัดตั้งบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co.)

เหตุผลหลักที่สหภาพทั้งสองออกมาคัดค้าน เชื่อว่าการแยกทรัพย์สินไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำให้หน่วยงานมีขนาดเล็กลง ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ขาดโอกาสทางธุรกิจ เป็นต้น

MP20-3291-A **เปิดโต๊ะแถลงการณ์ร่วม
การแถลงการณ์ร่วมกันครั้งนี้ สรท. ได้เลือกวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ซึ่งเป็นวันประชุมวิสามัญประจำปีของ สรท.แถลงการณ์ร่วมกับ สรท.กสท
ณ ห้อง Auditorium ชั้น 2อาคาร 9 ของ ทีโอที โดยมีนายพงษ์ฐิติ พงศ์ศิลามณี ประธานสหภาพฯสรท.และ นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพ สรท.กสท ร่วมกันแถลงข่าวในครั้งนี้

**ยุติแยกทรัพย์สิน
เหตุผลแถลงการณ์ร่วมครั้งนี้ เพื่อขอให้ยุติการแยกทรัพย์สิน จัดตั้งบริษัทลูก เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษา ได้วิเคราะห์แผน การดำเนินงาน บริษัทลูกทั้งสอง แล้วพบว่ามีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องเกินกว่า 5 ปี ไม่มีความชัดเจนของที่มาของรายได้ และ มติ ครม.ส่งผลให้มีการเพิ่มจำนวนหน่วยงานมากขึ้นเป็น 4 องค์กร ทำให้เกิดปัญหาการดำเนินธุรกิจแก่ ทีโอที และ แคท

ทั้งนี้ทั้ง 2 สหภาพเห็น ว่า การแยกทรัพย์สินและปรับโครงสร้างให้อิสระต่อกัน อาจก่อให้เกิดการแข่งขันกันเอง สร้างกระบวนการทำงานประสานงาน ที่ซํ้าซ้อนมากขึ้น คณะกรรมการบริษัท ที่เพิ่มเป็น 4 บริษัท ไม่สามารถประสานการลงทุนหรือวางแผนที่สอดคล้องกัน วิธีการถ่ายโอนทรัพย์สินไปไว้ที่บริษัทลูกทั้งสอง ไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาการแข่งขันกันเอง ปัญหากฎระเบียบขั้นตอนการดำเนินงานที่ยุ่งยากและใช้เวลาดำเนินการนานขึ้น ปัญหาการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาที่มีหน่วยงานรัฐกำกับดูแลหลายหน่วยงาน และปัญหาข้อพิพาทต่างๆ ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท

MP20-3291-2A **วอนนายกฯทบทวนมติ
ไม่เพียงเท่านี้ ทั้ง 2 สหภาพ เป็นองค์กรนิติบุคคลของพนักงาน กสท โทรคมนาคม และ พนักงาน ทีโอที ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 40 (4) ดำเนินการและให้ความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ได้พิจารณาร่วมกันแล้วมีความเห็น ขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 โดยขอให้พิจารณาแนวทางเลือกคือ การจัดตั้งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นคณะกรรมการบริษัทชุดเดียวกัน กำหนดนโยบายในการบริหารใช้ทรัพยากรและสินทรัพย์ร่วมกันเพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีขนาดโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศและทั่วโลก เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เป็นพันธมิตรกันโดยไม่แข่งขันกันเอง ร่วมมือกันทำธุรกิจ ลดต้นบริการ ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดการลงทุนซํ้าซ้อน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ถ่วงดุลในราคาที่เป็นธรรม ลดการเหลื่อมลํ้า ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีโครงข่ายของหน่วยงานรัฐเป็นผู้ให้บริการ และ ประเทศชาติเกิดความมั่นคง

MP20-3291-1A ** ใช้ ม.44 ยุบบอร์ด
“ผมอยากให้นายกฯใช้ ม.44 ยุบคณะกรรมการบอร์ดให้เหลือเพียงชุดเดียวเพื่อกำหนดนโยบายในการบริหารงานไปในทิศทางเดียวกัน และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่แข่งขันกันเอง นำทรัพย์สินที่มีอยู่มาร่วมพัฒนาบริการ” นั่นคือคำบอกเล่าของ นายสังวรณ์ พุ่มเทียน

**รัฐบาลควรเจรจากับพนง.
อย่างไรก็ตาม การแยกทรัพย์สินครั้งนี้ ทาง 2 สหภาพ แรงงาน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับพนักงานโดยตรง ไม่ใช่เจรจากับฝ่ายบริหารที่ซื้อตำแหน่งและเข้ามาบริหารองค์กรไม่นาน สักพักก็จะต้องออกจากตำแหน่ง และการโอนทรัพย์สินของทั้ง 2 หน่วยงานที่มีมูลค่า 13 ล้านล้านบาท นั้นยังไม่มีกฎ หมายมารองรับ เพียงแต่ใช้กฎระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี เท่านั้น

กรณีควบรวมธุรกิจของทั้ง ทีโอที และ แคท ยืดเยื้อกันมานาน ด้วยเหตุที่มาของการจัดตั้งองค์กรที่แตกต่างกัน แต่ในยุคนี้เมื่อรัฐบาลเห็นว่าต้องการลดต้นทุนซํ้าซ้อน ก็ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลที่มาจากวิธีพิเศษ จะบริหารจัดการในเรื่องนี้ได้หรือไม่ น่าจับตายิ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560