สวน.ชงตั้งกองทุนR&I ยกระดับเอสเอ็มอี

28 ส.ค. 2560 | 08:03 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การยกระดับอุตสาหกรรมไทยของรัฐบาลนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกระดับ “อินดัสตรี 4.0” ทำให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างออกมาแอ่นอกขานรับ หวังว่าสินค้าไทยที่ผลิตออกมา จะก้าวไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น ราคาดีขึ้น โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ศูนย์รวมอุตสาหกรรมกว่า 40 กลุ่ม และ 90% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หลังเข้ามารับตำแหน่ง ประธานบริหารสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สวน.) ได้กว่าปีเศษ กับบทบาทสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมไปสู่อินดัสตรี 4.0

[caption id="attachment_199852" align="aligncenter" width="503"] ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์[/caption]

ดร.ขัติยา กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากประธานส.อ.ท.(เจน นำชัยศิริ) เข้ามาบริหารงานด้านเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถของการแข่งขัน และนโยบายของรัฐบาลก็ล้อไปกับยุทธศาสตร์ของส.อ.ท. ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาการทำงานว่าจะย้อนกลับไปดูก่อนว่าเรามีจุดอ่อนเรื่องขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศและของภาคอุตสาหกรรมที่คนอื่นเขาประเมินกลับมาอย่างไร เพราะการที่บริษัทจะอยู่ได้ และแข่งขันได้ก็ต้องขายของได้ มีช่องทางการตลาดที่ดี มีต้นทุนที่เหมาะสมในการขายและต้องมีกำไรที่จะนำมาพัฒนาต่อได้

**10 ปีก็ยังอยู่ที่เดิม
จึงต้องกลับมาดูว่า ในอดีตที่เกิดขึ้นเราก็พยายามแก้ไขเรื่องการเพิ่มผลผลิต เมื่อ 10 ปีก่อน กับวันนี้ก็ยังไปไหนต่อไม่ได้ ยังอยู่ที่เดิม เนื่องจากที่ผ่านมาเราไปเน้นกับคนมากเกินไป ความจริงต้องเน้นทั้ง “คน” และ “เทคโนโลยี” ก้าวไปสู่อินดัสตรี 4.0 จะต้องเกิดการพัฒนาการผลิตในระบบอัตโนมัติ มีผลผลิตคุณภาพสูง นำระบบ ICT มาพ่วงการบริหารจัดการภายในการบริหารจัดการกับลูกค้าและการบริหาร ซัพพลายเชน

**สุ่มประเมินขีดความสามารถ
เวลานี้ได้ทำแบบประเมินขีดความสามารถของเทคโนโลยีว่า อุตสาหกรรมการผลิตเราอยู่ตรงไหนบ้างใน 4 ระดับนี้คือ 1. ระดับพื้นฐานที่ใช้เครื่องจักรกับคนร่วมทำงาน โดยยังไม่เป็นระบบอัตโนมัติ หรือเซมิออโตเมชัน 2. ใช้เครื่องจักรกับคนมากขึ้น เริ่มนำเครื่องจักรกับคนมาทำงานร่วมกันแบบเข้มข้นมากขึ้น แต่ยังไม่เชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร 3. เป็นระบบอัตโนมัติสมบูรณ์แบบ 4. นำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยบริหารจัดการสายการผลิตและบริหารกับลูกค้ากับซัพพลายเชน ผลปรากฏว่าเอสเอ็มอีของไทยตอนนี้อยู่ที่ระดับอินดัสตรี 2.0-2.5 ส่วนบริษัทขนาดใหญ่จะอยู่ระดับ 3-4 ซึ่งเป็นจำนวนน้อย (ดูกราฟวงกลม)

ตรงนี้ประเมินมาจากการสุ่มตัวอย่างสมาชิกของส.อ.ท. ประมาณกว่า 100 บริษัท ทำให้เกิดความกังวลในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นตรงนี้ทำให้เราต้องทำกิจกรรมสร้างความรู้ 4 ด้านคือ 1. กระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำระบบอัตโนมัติ และนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ 2. พัฒนาผู้ให้บริการอุต สาหกรรมหรือ SI เช่น ออกแบบระบบอัตโนมัติ 3. พัฒนาเทค โนโลยี 4. พัฒนาคนเหล่านี้คือซีกอินดัสตรี 4.0

ส่วนด้านขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องนำวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้เพื่อทำนวัตกรรม และสถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ก็พยายามกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทำการวิจัยและนวัตกรรมด้วย ซึ่งปัจจุบันก็พบว่าไทยดีขึ้น เพราะมีการลงทุนในการทำวิจัยและนวัตกรรมหรือ R&I ของประเทศเพิ่มขึ้น จาก 0.42% มาเป็น 0.68% ของจีดีพี โดยเรามีเป้าหมายของประเทศที่จะลงทุนด้าน R&D อยู่ที่ 1% ในปี 2561 และจะเพิ่มเป็น 2% ในอนาคต

เดิมทีการวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐลงทุน R&D มีสัดส่วน 60% มากกว่าภาคเอกชนที่ลงทุนด้านนี้เพียง 40% เปรียบเทียบกับปัจจุบันรัฐลงทุน 30% เอกชนลงทุน 70% เนื่องจากมีสิทธิประโยชน์จูงใจจากกรมสรรพากรในการลดหย่อนภาษีการวิจัยและพัฒนา 300% สามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 1 เท่าเป็น 3 เท่าให้กับบริษัทเอกชนที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

TP-133291-A **ประมวลปัญหาส่งถึงรัฐ
ดร.ขัติยา กล่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานว่า สิ่งที่ทำมาแล้วคือ 1. ศึกษาจุดอ่อนของอุตสาหกรรมไทยแบบสุ่มตัวอย่างโดยดึงกว่า 100 บริษัทในส.อ.ท.มาทำแบบประเมิน 2. กำหนดยุทธศาสาตร์พัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อินดัสตรี 4.0 ที่มี 4 ด้านตามที่กล่าวมาข้างต้น 3. การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น 4. ประมวลภาพทั้งหมดนำเสนอต่อภาครัฐเช่นกระทรวงวิทย์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปกำหนดกรอบและแนวทางแก้ไขและพัฒนาร่วมกัน ซึ่งในวันที่ 8 กันยายนนี้จะประชุมร่วมกับกระทรวงวิทย์ นำเสนอถึงการทำวิจัยเรื่องแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (เอนเนอร์ยี สตอเรจ) รวมรถอีวี แบตเตอรี่ไฮบริด พลังงานทดแทน เพราะรัฐบาลอยากให้เกิดการวิจัยระดับชาติ เราจึงต้องการกระตุ้นเอสเอ็มอีที่มาเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งมองว่าจะเป็นตลาดใหญ่ในอนาคต จึงรวมกลุ่มกันมาเป็นโจทย์ร่วมว่าอยากให้ภาครัฐลงมาร่วมกันทำวิจัย

นอกจากนี้กรอบการทำงานล่าสุด สวน. ได้นำเสนอกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งกองทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมงานสู่เชิงพาณิชย์ โดยจูงใจให้เอสเอ็มอี จ่ายสมทบเข้ากองทุนเพื่อเก็บสะสมเงินสำหรับการทำวิจัยและนวัตกรรมหรือ R&I ของประเทศ ของบริษัท โดยมีระยะเวลาสะสมทุนไม่เกิน 5 ปี ซึ่งผู้ประกอบการที่สะสมเงินเข้ากองทุนสามารถนำไปใช้หักลดหย่อนภาษี 300% ได้ รวมถึงการคืน Refund เงินวิจัย หรือ Cash back จากเงินลงทุนด้าน R&I ของเอกชนที่ได้ลงมือดำเนินการไปแล้ว สามารถขอคืนได้ 80% จากยอดเงินทุนทั้งหมด ล่าสุดกระทรวงวิทย์อยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560