สื่อ-นักวิเคราะห์ต่างชาติเกาะติดคดี "ยิ่งลักษณ์"

25 ส.ค. 2560 | 10:09 น.
สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นรอยเตอร์ส เอพี บีบีซี บลูมเบิร์ก ซีเอ็นเอ็น นิวยอร์ก ไทม์ส ไฟแนนเชียล ไทม์ส วอลล์ สตรีต เจอร์นัล และอีกหลายสื่อ ต่างเกาะติดข่าวการตัดสินคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันศุกร์ (25 สิงหาคม) โดยรายงานเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยไม่มาปรากฏตัวที่ศาล โดยทนายความให้เหตุผลว่ามีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน และศาลได้ออกหมายจับน.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมกับเลื่อนการอ่านคำตัดสินออกไปเป็นวันที่ 27 กันยายน

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศล้วนแต่ชี้ว่าคดีดังกล่าวมีโอกาสสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองและเปลี่ยนแปลงบรรยากาศทางการเมืองในไทย โดยบลูมเบิร์กระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งถูกรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีโอกาสถูกจำคุกถึง 10 ปีถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิดจากกรณีโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งคำตัดสินเสี่ยงที่จะเปิดรอยร้าวในสังคมไทยที่เป็นชนวนให้เกิดการปะทะกันที่รุนแรงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาขึ้นอีกครั้ง

ขณะที่สำนักข่าวเอพีกล่าวว่า คำตัดสินถูกมองว่าเป็นคำพิพากษาทางการเมืองมากพอๆ กับคำพิพากษาทางอาญา โดยคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นคดีล่าสุดที่มีการฟ้องร้องฝ่ายการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของเธอซึ่งถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549

ฝ่ายนักวิเคราะห์ชาวต่างชาติได้มีการออกมาแสดงทรรศนะต่อเรื่องนี้เช่นเดียวกัน อาทิ นายพอล แชมเบอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันเอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดหรือไม่ จะต้องสร้างความโกรธเคืองให้กับฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “ประเทศไทยยังคงมีความเห็นแตกแยกในเรื่องของตระกูลชินวัตรอย่างไม่น่าเชื่อ  แม้จะผ่านมา 16 ปีหลังจากที่ทักษิณ ชินวัตรได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก”

นายแพทริค โจรี อาจารย์อาวุโสด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้น.ส. ยิ่งลักษณ์มีความผิด และบทลงโทษอย่างน้อยที่สุดก็จะถูกห้ามไม่ให้เล่นการเมือง แต่โอกาสถูกจำคุกนั้นคงเป็นไปได้น้อย เพราะจะสร้างความแตกแยกทางการเมืองอย่างหนัก

ขณะที่บีเอ็มไอรีเสิร์ช บริษัทวิจัยในเครือของ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อ ฟิทช์กรุ๊ป ชี้ว่า หากศาลพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดจริง ก็อาจทำให้บรรดาผู้สนับสนุนออกมาประท้วง แต่การมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือจะทำให้รัฐบาลทหารไทยสามารถคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองของไทยในระยะสั้นยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาค