ผนึกพลังเพื่อผืนป่า ฟื้นฟูป่าต้นนํ้า ‘ปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดิน’

26 ส.ค. 2560 | 23:00 น.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2547 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ทอดพระเนตร พื้นที่บริเวณดอยม่อนล้าน ณ จุดความสูง 1,360 เมตร ใกล้บ้านอาแย หมู่ที่ 3 ตำบลป่าไหน่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากได้รับรายงานข้อมูลจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนาได้ถูกบุกรุกแผ้วถาง ทำไร่หมุนเวียน เป็นแนวกว้างกว่าหมื่นไร่ ถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่มีการบริหารจัดการในการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม พื้นที่ป่าก็จะถูกบุกรุกทำลายอันนำมาสู่ความเสียหายในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชนและท้องถิ่นใกล้เคียงเกิดความเดือดร้อน

MP26-3291-1 ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยในท้องถิ่น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชดำริให้มีการจัดตั้ง “สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ” บริเวณดอยม่อนล้าน ต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตรอย่างถูกหลักวิชาการ โดยใช้พื้นที่อย่างจำกัด แต่ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น สร้างงาน สร้างอาชีพ ควบคู่ไปกับการยับยั้งการบุกรุกทำลายป่า และอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า ตลอดจนพัฒนาสถานีฯ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศ

อุทยานแห่งชาติศรีลานนา บนพื้นที่กว่า 878,750 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ (พื้นที่อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว และอำเภอพร้าว) ที่ผ่านมาประสบกับปัญหาในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการ แผ้วถางเพื่อบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งกำเนิดต้นนํ้าที่สำคัญที่ไหลลงสู่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แม่นํ้าปิงและแม่นํ้าเจ้าพระยา จากสาเหตุดังกล่าวทางเครือเจริญโภคภัณฑ์พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายต่างๆ นำโดยกลุ่มคนพร้าวรักษ์ป่า ผนึกกำลังเพื่อสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผ่านแนวทางบูรณาการทางความคิดผลิตหลักการในการจัดการปัญหาอย่างจริงจังควบคู่ไปกับการวางฐานรากให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อน หล่อหลอมจนเกิดเป็น “โครงการปลูกต้นไม้ถวายแม่ของแผ่นดิน”

MP26-3291-4 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประธานในพิธีฯ ให้ข้อมูลว่า ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมอุทยานฯใช้หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง” เข้ามาปรับใช้เพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีในการทวงคืนผืนป่าควบคู่ไปกับฟื้นฟูและสร้างความตระหนักคิดให้กับชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งของการรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ นอกจากนั้นอุทยานแห่งชาติศรีลานนาแห่งนี้ยังเป็นโครงการนำร่องเพื่อการฟื้นฟูป่าต้นนํ้าของประเทศ ขณะเดียวกันหลังการเข้ามาปลูกจิตสำนึกให้กับชุมชน คดีความเกี่ยวกับการบุกรุกป่าไม้กว่า 200 คดีลดลงอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบันไม่มีคดีในลักษณะดังกล่าว ที่สำคัญสามารถทวงคืนผืนป่ามาได้แล้วกว่าหมื่นไร่

ด้านนายจงกล เหลืองอ่อน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด ในฐานะตัวแทนโครงการธรรมชาติปลอดภัย เผยว่า โครงการธรรมชาติปลอดภัย เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการสนับสนุนการทำงานของอุทยานแห่งชาติศรีลานนาและประชาชนในท้องถิ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานเรายึดหลัก

MP26-3291-5 ควบคู่ไปกับการบูรณาการกับทุกภาคส่วน สำหรับมิติ ป้องปราม คือการเอากฎหมายมาใช้ควบคู่ไปกับรัฐศาสตร์เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการรุกผืนป่า ถัดมาในส่วนของปลูกจิตสำนึกเรามุ่งปฏิบัติและสร้างสรรค์กิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมสำหรับการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นป่า อย่างเช่น กิจกรรมปลูกป่าในวันนี้ ด้านฟื้นฟู เรานำเอาพันธุ์ไม้ที่เป็น ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน ไม้ดอก และไม้อาหารสัตว์ มาปลูกในอุทยานฯ ควบคู่ไปกับติดตามและดูแลพันธุ์ไม้อย่างใกล้ชิด และในส่วนของสร้างอาชีพ เราได้นำเอากล้าไม้พันธุ์ต่างๆ มาส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นได้ทดลองปลูก เพื่อนำผลผลิตที่ได้มาสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ คนพร้าวรักษ์ป่า กรมอุทยานฯ ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วย ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ พระสงฆ์ ประชาชน ภาคเอกชน ภาคราชการรวมทั้งภาคธุรกิจ ร่วมกันปลูกต้นไม้ในบริเวณ 2 ข้างทางที่ขึ้นไปยังสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ ดอยม่อนล้าน จำนวน 21,000 ต้น ระยะทางรวม 51 กิโลเมตร เพื่อพลิกฟื้นคืนผืนป่าให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เสริมสร้างพื้นที่ป่าต้นนํ้าให้เกิดความสมดุล พร้อมกับถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา

MP26-3291-3 อย่างไรก็ดีสำหรับ “กลุ่มคนพร้าวรักษ์ป่า” เกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนใน 4 อำเภอ 2 จังหวัด มีสมาชิกกว่า 3,000 คน โดยมี ดร.พระครูวรวรรณวิวัฒน์ เจ้าคณะตำบล โหล่งขอด อ.พร้าว เป็นประธานกลุ่มฯ โดยพระอาจารย์ฯ เผยว่า การรวมกลุ่มในครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดีระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งอาตมาใช้หลักการ “ถอดบทเรียน ความทุกข์ชาวบ้าน” มาปรับใช้ในการดำเนินงาน ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเกิดการพูดคุยและแก้ไขด้วยกัน โดยผลสัมฤทธิ์ที่เห็นคือ ชุมชนรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ คดีความลดลง คนกับไม้ได้อยู่อาศัยร่วมกันอย่างสมดุล ตลอดจนผืนป่าต้นนํ้ามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพราะเราเชื่อเสมอว่าหากต้นนํ้าเกิดวิกฤต กลางนํ้าและปลายนํ้าจะปรกติสุขได้อย่างไร อย่างไรก็ดีนอกจากแนวปฏิบัติที่กล่าวมาเบื้องต้น สิ่งสำคัญที่สุดที่เราควรน้อมนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต คือ “การปลูกป่าในใจคน”

ด้านนายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงแรกของการดำเนินงานเพื่อทวงคืนผืนป่าในเขตอุทยานฯแห่งนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค แต่การเข้ามาของภาคีเครือข่าย ทำให้ภาพรวมการดำเนินงานเกิดความคล่องตัว จนในปัจจุบันเกิดความร่วมมืออย่างสามัคคีในการทวงคืนและพลิกฟื้นผืนป่า อย่างไรก็ดีสำหรับแผนพัฒนาต่อจากนี้เราอุทยานฯพร้อมปักหมุดสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งนอกจากสร้างความเป็นอยู่ดีให้กับชุมชนยังเพิ่มโอกาสในด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับประเทศในอนาคต

MP26-3291-2 นอกจากนี้จากการพูดคุยกับนายสาม ตามิ ผู้ใหญ่บ้านสามลี่ หมู่ 11 ต.แม่แวน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เล่าให้เราฟังว่า แรกๆยอมรับว่าไม่ชอบวิธีการทวงผืนป่าเพราะนั้นคือที่ทำมาหากิน แต่หลังจากเปิดใจและพูดคุยถึงแนวทางการคืนและพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนพร้อมกับเจตนารมย์อันจริงใจของหน่วยงานต่างๆ ตนและชาวบ้านจึงร่วมมือกันกับทุกภาคส่วนอย่างสมัครใจไม่ว่าจะเป็นการเลิกทำไร่เลื่อนลอย การไม่ถางป่าพร้อมกับการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืชเชิงเดียวเป็นวนเกษตร ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านในท้องถิ่นสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างหลากหลาย อาทิ เงาะ ส้ม ลำไย และมะม่วงพันธุ์นํ้าดอกไม้สีทอง ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น มีองค์ความรู้มากขึ้น และนัยสำคัญทุกครัวเรือนมีความสุข พร้อมคิดค้นสิ่งใหม่ๆ สำหรับการต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์จากชุมชน

“ถือได้ว่าการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนที่ผ่านมาครึ่งทศวรรษ สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตกผลึกสู่การตระหนักรู้ถึงผลกระทบ รวมทั้งเป็นต้นแบบที่ดีของการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นในภาคเหนืออีกด้วย และนัยสำคัญได้เห็นพลังความสามัคคีของทุกคนในชุมชนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ อันนำไปสู่การจัดการปัญหาที่ยั่งยืน นำความผาสุกมาสู่ชุมชน สังคมและประเทศชาติ” ตัวแทนจากทุกภาคส่วนต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขใจที่ได้ทำเพื่อผืนป่าไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,291 วันที่ 27 - 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560