เปิดคำแถลงอัยการ คดี “ยิ่งลักษณ์” ละเว้นปฏิบัติหน้าที่จำนำข้าว

23 ส.ค. 2560 | 12:48 น.
คำแถลงอัยการ 211 หน้า ปิดคดีโครงรับจำนำข้าว ที่มีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ระบุ รัฐบาลในขณะนั้นเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวท่ามกลางเสียงท้วงติง แต่กลับไม่สนใจ ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท เป็นภาระการเงินการคลังไปอีกนานแสนนาน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า อัยการสูงสุด โดยนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล พนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินคดี เป็นตัวแทนโจทก์ ยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ความยาว 211 หน้า ต่อองค์คณะตุลาการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกำหนดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ในคดีฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐ กรณีละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลซึ่งศาลฯนัดอ่านคำพิพากษาในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมนี้ 31-7

คำแถลงปิดคดีของอัยการ ได้ลำดับการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีเสียงเตือนท้วงติงจากฝ่ายต่างๆ ตั้งแต่ต้น นับแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่จะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ตันละ 1.5 หมื่นบาท วันรุ่งขึ้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ โดยตรง ชี้ปัญหาและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จากบทเรียนการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรของรัฐบาลก่อนหน้า ที่เกิดการทุจริตทุกขั้นตอน สร้างความเสียหายมหาศาล จากนั้นมีหนังสือแจ้งเตือนเป็นระยะถึง 4 ฉบับตลอดช่วงโครงการรับจำนำข้าว

32-7

ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ส่งความเห็นท้วงติงทำนองเดียวกัน พร้อมแนบรายงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่รับศึกษา บ่งชี้ว่า บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ซึ่งต่อมาแปลงร่างเป็นบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีปัญหาทุจริตเกี่ยวพันกับโครงการรับจำนำข้าวยุคนายทักษิณ ชินวัตร และมีหนังสือเสนอแนะการป้องกันการทุจริตรับจำนำข้าวถึงรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน 2555

33-6

อีกทั้งมีรายงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงบประมาณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รวมถึงกระทรวงการคลัง โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขณะนั้น ที่แจ้งเตือนถึงปัญหาภาระงบประมาณในการดำเนินโครงการ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ ในแวดวงที่เกี่ยวข้องผ่านทางสื่อสารมวลชนอย่างกว้างขวาง จนถึงต่อมาพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลางสภา เปิดเผยเงื่อนงำการทุจริตการระบายข้าวจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าว หากแต่รัฐบาลยังเดินหน้าโครงการต่อ

34-6

คำแถลงของอัยการ ระบุว่า รัฐต้องใช้เงินไปรับจำนำข้าวจากชาวนาเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมเวลา 2 ปี 5 ฤดูกาลผลิตเป็นข้าวเปลือกรวม 55 ล้านตัน เป็นเงินรวมถึง 8.78 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยกับค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้น และตัวเลขเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 โครงการนี้ใช้เงินไปแล้ว 9.41 แสนล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 5.36 แสนล้านบาท และการขาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 กว่า 6 แสนล้านบาท โดยรัฐมีภาระค่าดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยวันละ 36 ล้านบาท

35-3

ในคำแถลงปิดคดีของอัยการสรุปตอนท้ายว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ใช้นโยบายรับจำนำข้าว อันเป็นนโยบายประชานิยมที่นำไปสู่การทุจริตเชิงนโยบายของพวกพ้อง ที่แอบแฝงซ่อนเร้นไปด้วยกลโกง ในการรับจำนำข้าว โดยเอาผลประโยชน์ของชาวนาบังหน้า ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อชาติบ้านเมืองอย่างร้ายแรงจนยากจะเยียวยา อันไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย