ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนก.ค.ลดลงอยู่ที่ระดับ 83.9

23 ส.ค. 2560 | 11:23 น.
ส.อ.ท.เผยการบริโภคชะลอตัว กระทบดัชนีความเชื่อมั่นฯ ก.ค. 60 ลดลงอยู่ที่ระดับ 83.9 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้ายังปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายเจน  นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) กรกฎาคม 2560 จำนวน 1,064 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 28.6, 36.0 และ 35.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม2560 อยู่ที่ระดับ 83.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.7 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ  ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลต่อการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ประกอบในเดือนกรกฎาคมมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอุปสรรคต่อภาคการผลิตและการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายและการบริโภคในช่วงครึ่งหลังของปี 2560

ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกรกฎาคม 2560 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดใหญ่  ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน

โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 69.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 70.9  ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น อุตสาหกรรมแก้วและกระจก และหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง  พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 81.7 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ และอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 94.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบกา