บริโภค-ส่งออก ท้าทายเป้าจีดีพี 4%

25 ส.ค. 2560 | 13:13 น.
สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2/2560 ขยายตัว 3.7% สูงที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส โดยได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกและบริการที่ขยายตัวดี การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนที่กลับมาฟื้นตัว

ขณะที่สภาพัฒน์ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.3-3.8% เป็น 3.5-4.0% แม้จะยังห่วงเรื่องการลงทุนภาครัฐที่ชะลอตัว แต่คาดว่าการลงทุนเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวจะเป็นตัวเร่ง และภาคเกษตรที่ผลผลิตและราคากลับมาขยายตัว

ผลกระทบเชิงบวกจากการปรับเพิ่มจีดีพีนั้น ทำให้สภาพัฒน์มั่นใจว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดภาระหนี้ภาคครัวเรือนให้ลดลงจากระดับ 81% มาที่ 78%

MP24-3290-A อย่างไรก็ตามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประมาณการณ์เศรษฐกิจรอบใหม่เดือนตุลาคม โดยมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น แต่ยังติดตามปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจคู่ค้า การค้าโลก ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์โลก และความต่อเนื่องของการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ

ส่วนสำนักวิจัยเศรษฐกิจของภาคเอกชนยังคงประมาณการจีดีพีในกรอบเดิม แต่ส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น รอดูตัวเลขการส่งออก และการค้าโลกที่ยังผันผวน

[caption id="attachment_50327" align="aligncenter" width="357"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชาว์ เก่งชน
กรรมการผู้จัดการ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย[/caption]

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ครึ่งหลังจีดีพีไทยน่าจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องโดยทั้งปียังคงประเมินจีดีพีไว้ที่ 3.4% โดยขอดูตัวเลขภาคการส่งออกในระยะข้างหน้าว่าจะถูกกดดันจากเงินบาทที่แข็งค่าหรือราคานํ้ามันอย่างไร

นอกจากนี้แม้ครึ่งปีที่ผ่านมาผลผลิตภาคเกษตรจะฟื้นตัวดีแต่ผลผลิตเกษตรยังไม่ขยับไปในทิศทางเดียวกันจึงเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อแม้จะมีมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อยจะช่วยบรรเทาได้บ้าง เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสะท้อนผ่านความรู้สึกเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นหรือส่วนหนึ่งจากการบริโภคเอกชนชะลอและการลงทุนภาครัฐติดลบถึง 7%

[caption id="attachment_118065" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ถ้าต้องการยกระดับความเชื่อมั่นทางการต้องทำใน 3 ด้านได้แก่ 1.การขายสินค้าได้ดีขึ้น ซึ่งครึ่งปีเริ่มสะท้อนผ่านภาคส่งออกระดับหนึ่งซึ่งต้องติดตามอัตราการขยายตัวว่าจะต่อเนื่องเพียงไร 2. การลดรายจ่ายของประชาชน ซึ่งยังเป็นโจทย์ต้องดำเนินการต่อ และ 3. การทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะโดยการดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศหรือมาตรการระยะยาวในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีหรือการศึกษา เป็นต้น

“ Consumption ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนจีดีพีไทยให้ขยายตัวตามเป้า 3.5-4.0% และการส่งออกจะต้องขยับ 6% เพื่อให้เห็นการลงทุนเอกชนเพิ่มตามการขยายตัวของภาคส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งจีน และสหรัฐฯ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560