เปิดศึกชิงลูกค้าโมบาย BAYชูธงรุกดิจิตอล SCBหวังโค่นแชมป์

26 ส.ค. 2560 | 03:56 น.
แบงก์เปิดศึกพัฒนาโมบายแอพพลิเคชันดึงลูกค้าดาวน์โหลดบริการ “กรุงศรีอยุธยา” กางโรด แมป 7 เสาหลักปูทางดิจิตอลแบงกิ้ง ชู KMA ดันสิ้นปียอดแอกทีฟ 2.5 ล้านราย ไทยพาณิชย์ปรับโฉม SCB EASY หวังสูงโค่นแชมป์ด้วยยอดผู้ใช้ 8 ล้านราย ฟาก “กสิกรไทย” ต่อยอดคิวอาร์โค้ด ส่ง K PLUS SHOP กวาดยอดร้านค้า

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประกาศโรดแมป 7 เสาหลักพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อปูทางไปสู่ธนาคารดิจิตอลเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย 1. Multi-channel 2.Branch Transformation 3. Process Digitization 4.Digital Marketing and Social Media 5.Innovation Culture 6.Startup/Fintech Experiment และ 7.National e-Payment

[caption id="attachment_118061" align="aligncenter" width="503"] ฐากร ปิยะพันธ์ ฐากร ปิยะพันธ์[/caption]

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับโฉม Krungsri Mobile Application (KMA) แพลตฟอร์มโมบายแบงกิ้งที่ใช้ง่ายขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น ครบถ้วนในทุกบริการ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 เสาหลักของโรดแมปดิจิตอลของธนาคาร
ภายหลังจากปรับโฉมแพลตฟอร์ม KMA จะพบว่าปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดแล้ว 1 ล้านราย จากฐานลูกค้าผู้ใช้งานที่มีอยู่ 2.5 ล้านราย แต่มีผู้ใช้ที่สมํ่าเสมอ ประมาณ 1.2-1.3 ล้านราย คาดว่าภายในสิ้นปีจะเพิ่มยอดแอกทีฟเป็น 1.5 ล้านราย และเพิ่มยอดผู้ใช้บริการในปี 2561 เพิ่มเป็น 4 ล้านราย โดยที่ยอดแอกทีฟจะเพิ่มเป็น 2.5 ล้านราย ขณะที่ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 100% จากปี 2559 มีปริมาณธุรกรรมอยู่ที่ 176 ล้านรายการ คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 350 ล้านรายการ คิดเป็นการเติบโต 98% และภายในปี 2561 ธุรกรรมจะเพิ่มเป็น 650 ล้านรายการ หรือเติบโต 85%

นอกจากนี้ ภายในไตรมาสที่ 4 ธนาคารได้พัฒนา Digital Lending ที่อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการสินเชื่อของกรุงศรีแบบครบวงจรผ่านออนไลน์ หรือ Automate Application Form โดยลูกค้าสามารถส่งเอกสารแบบ E-Document ที่เชื่อมต่อกับ NCB E-Consent สามารถทราบผลทันที

เบื้องต้นเฟสแรกจะเริ่มจากฐานลูกค้าเก่าก่อน และคาดว่าภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติเรื่อง E-KYC ธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าใหม่ได้ ขณะเดียวกัน ธนาคารยังพัฒนา QR Code เพื่อรองรับโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ลูกค้าสามารถจ่าย-โอนเงินผ่าน QR Code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

“ตอนนี้การแข่งขันของธนาคารค่อนข้างรุนแรง และจะเห็นรูปแบบธนาคารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยโมบายจะเป็นเรื่องหลักในการแข่งขัน เพราะทุกธุรกรรมการเงินจะมาอยู่บนโมบายแบงกิ้ง ซึ่งเราก็พยายามลงทุนและพัฒนานอกจากให้ลูกค้าแล้วยังต้องสามารถเชื่อมต่อกับคนอื่นได้ด้วย”

[caption id="attachment_198832" align="aligncenter" width="377"] อาทิตย์ นันทวิทยา อาทิตย์ นันทวิทยา[/caption]

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารเปิดตัว SCB EASY โฉมใหม่ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นดิจิตอลไลฟ์สไตล์แบงกิ้ง อย่างเต็มรูปแบบ โดยตั้งเป้าเป็นผู้นำอันดับ 1 ภายในสิ้นปี 2561 ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 8 ล้านคน จากปัจจุบัน 4 ล้านคน โดยคาดว่าสิ้นปีนี้ยอดผู้ใช้บริการน่าจะจบอยู่ที่ 5-6 ล้านคน

ทั้งนี้หากดูปริมาณธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จะพบว่ามีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนธุรกรรมอยู่ที่ 17 ล้านธุรกรรมต่อเดือน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 50 ล้านธุรกรรมต่อเดือน คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น 1 ใน 4 หรือเติบโต 4 เท่าตัว

ดังนั้นแม้ว่ารายได้ธุรกรรมโอนเงินจะหายไป แต่จะเห็นว่ารายได้จากการโอนเงินไม่ได้มากเมื่อเทียบกับรายได้ที่มาจากสินเชื่อและอื่นๆ แต่ในอนาคตต้นทุนธนาคารจะลดลงเยอะมากกว่าการลงทุนไป จึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่าในระยะยาว
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยพร้อมให้บริการระบบการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดอย่างเต็มรูปแบบกับกลุ่มร้านค้าขนาดย่อม ผ่านแอพพลิเคชัน K PLUS SHOP เป็นแอพพลิเคชันแรกที่รับจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด สะดวกทั้งมุมของคนขายและคนซื้อ

สำหรับเป้าหมายร้านค้าแอพแรกในประเทศไทย ช่วยขายคล่อง “ยิงปิ๊บ จ่ายปั๊บ” เจาะร้านค้าย่อย 3 กลุ่ม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสินค้าแฟชั่น และการเดินทางในชีวิตประจำวัน ประเดิม 3 พื้นที่ ได้แก่ สยามสแควร์ จตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูนํ้ากว่า 10,000 จุด พร้อมขยายทั่วประเทศในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าร้านค้ารับชำระกว่า 200,000 ร้านค้า มูลค่าธุรกรรมปีนี้ 800 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560