จีนออกแบบรถไฟกทม.-โคราช

26 ส.ค. 2560 | 04:16 น.
ครม.อนุมัติสัญญาว่าจ้างรัฐวิสาหกิจจีนออกแบบรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 1.7 พันล้านบาท พร้อมให้เร่งสัญญาจ้างที่ปรึกษาคุมงานก่อสร้าง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอในการขออนุมัติร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ฉบับที่ 2.1 งานจ้างออกแบบรายละเอียด เพื่อดำเนินการว่าจ้าง China Railway International Co., Ltd. และ China Railway Design Corporation ในการออกแบบรายละเอียดงานโยธาระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในวงเงินค่าจ้าง 1,706.8 ล้านบาท

1497269467522 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดทำร่างสัญญา 2.1 งานออกแบบรายละเอียดซึ่งถือเป็นข้อตกลงหลักระหว่างคู่สัญญา โดยเป็นการว่าจ้างตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ เพื่อดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมาในงานออกแบบรายละเอียดสำหรับการก่อสร้างงานโยธา ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางยกระดับ อุโมงค์ สะพาน อาคาร ย่านสถานี และโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาอื่นๆ

สำหรับข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญา 2.2 งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากรนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการร่วมกันระหว่างไทยและจีน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานและกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับคณะทำงานของจีน ในประเด็นค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้างงานโยธา (สัญญา 2.2) ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย ตอนที่ 1 จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. กรองวงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากตัวเลขที่จีนเสนอมานั้นยังสูงกว่ากรอบที่ได้ขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้ที่ 1,649.08 ล้านบาท ซึ่งได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หารือในรายละเอียดร่วมกับจีน ให้ได้ข้อสรุปภายใต้หลักการเดียวกับสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ(สัญญา 2.1) คือต้องไม่เกินกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. จะต้องพิจารณาร่วมกับจีน คือกรอบการทำงานควบคุมการก่อสร้าง จำนวนวิศวกร ขอบเขตของงาน ให้ชัดเจน และตรงกับข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้น มีการเสนอวิศวกรจีนที่ 100 คน วิศวกรไทย ประมาณ 400 คน ซึ่งร.ฟ.ท.ต้องตรวจสอบว่า เนื้องานที่จีนคิดมานั้น เมื่อเปรียบเทียบกับที่ฝ่ายไทยคิด มีอะไรที่ซํ้าซ้อนกันบ้าง หากตรงไหนซ้ำกันจะต้องตัดออก ซึ่งจะทำให้ จำนวนวิศวกรลดลงไปด้วย กรอบค่าจ้างจะลดลงตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560