ส่องข้อต่อสู้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ลุ้นศาลฎีกาชี้ชะตา! พรุ่งนี้ (25 ส.ค.60)

24 ส.ค. 2560 | 12:48 น.
วันที่ 25 สิงหาคมนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิพากษาชี้ชะตา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่ได้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าว ในฐานความผิดปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีอัตราโทษจำคุก 1-10 ปี และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว กระทั่งทำให้รัฐเสียหายนับแสนล้านบาท มีอัตราโทษ 1-10 ปี เช่นเดียวกัน

++โวยถูกดำเนินคดีไม่เป็นธรรม
ก่อนที่จะถึงวันศุกร์นี้ ซึ่งเป็นวันที่องค์คณะตุลาการทั้ง 9 คน จะออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาประวัติศาสตร์ ลองย้อนไปดูคำแถลงปิดคดีด้วยวาจาของนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่งัดขึ้นมาตอบโต้อัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งเป็นโจทก์ในการฟ้องร้องคดีจำนำข้าว

ในการแถลงปิดคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้ยก 6 ประเด็นขึ้นมาต่อสู้ ประกอบด้วย

1.ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย นับตั้งแต่ต้นนํ้า คือ ในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เร่งรีบรวบรัดชี้มูลความผิดด้วยพยานเอกสารเพียง 329 แผ่น ไต่สวนเพียง 79 วัน และชี้มูลความผิดหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งเพียง 1 วัน กลางนํ้า คือ ชั้นการฟ้องคดีของโจทก์ (อัยการสูงสุด) เนื่องจากรายงานของ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์เพียงพอและไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะดำเนินคดีได้ สุดท้ายในชั้นของการฟ้องคดีและการไต่สวนในศาล อาทิ มีการฟ้องนอกสำนวน ป.ป.ช. ในชั้นการพิจารณาคดีโจทก์มีการเพิ่มเติมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใหม่ เช่น รายงานผลการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เป็นต้น

2.จำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ และดำเนินการตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่ได้เป็นการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดและเกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวหา ทั้งยังดำเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งมีผลผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 75 มาตรา 176 และมาตรา 178

3.ไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ เพราะกระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการบริหารนโยบายรับจำนำข้าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี

4.การดำเนินโครงการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่เป็นโครงการที่คุ้มค่า ไม่เป็นภาระต่องบประมาณที่เกินสมควร หรือเป็นปัญหาต่อหนี้สาธารณะ ไม่เสียวินัยการเงินการคลังของประเทศจนกระทั่งต้องระงับหรือยุติโครงการ
5.ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดหรือโดยทุจริต

และ 6.ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว ซึ่งเป็นงานระดับปฏิบัติที่มีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวเป็นผู้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้การระบายข้าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลซึ่งคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าต่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554

tp16-3290-a ++เหยื่อเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง
“ดิฉันเป็นเหยื่อของเกมการเมืองที่ลึกซึ้ง จึงหวังพึ่งศาลสถิตยุติธรรมได้โปรดพิจารณาบนพื้นฐานข้อเท็จจริง และสภาวะแวดล้อมในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่การตั้งสมมติฐานที่ใช้สภาวะแวดล้อมของปัจจุบันที่เปลี่ยนไปแล้วมาตัดสินการดำเนินการของดิฉัน ในอดีต

นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งช่วยเหลือชาวนา ไม่ใช่ “พาณิชย์นโยบาย” ที่คิดกำไร ขาดทุนกับชาวนาผู้ยากไร้และตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่มีทั้งฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ต่างต้องรับผิดชอบงานของตนเอง ในฐานะผู้กำกับนโยบายไม่ใช่ในฐานะผู้ปฏิบัติ หากมีผู้ปฏิบัติกระทำผิดในขั้นตอนใด ย่อมเป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้นๆ กรณีมา กล่าวหาให้บุคคลระดับนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบร่วมด้วยกับฝ่ายปฏิบัติ ดังเช่นที่โจทก์และคณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำในครั้งนี้ อย่างที่ไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดถูกกล่าวหาในลักษณะนี้มาก่อน”

++ยันไม่ได้ทำอะไรผิด
ในการแถลงปิดคดีด้วยวาจาวันนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ถึงกับสะอื้น เมื่อกล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ชาวนาโดยยํ้าว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด สิ่งที่ดิฉันทำ คือ การใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่เกิดในต่างจังหวัด มีโอกาสได้รับรู้ สัมผัสความทุกข์ยากแสนสาหัสของชาวไร่ชาวนา ซึ่งประเทศนี้เคยเรียกพวกเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของชาติ และเรียกร้องให้คนไทยทุกคน เกื้อหนุนดูแล ดิฉันก็ได้ทำแล้วในโครงการรับจำนำข้าวเป็นผลพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ช่วงที่มีโครงการรับจำนำข้าวชาวนามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสเรียนต่อ นับเป็นความภูมิใจในชีวิตที่ครั้งหนึ่งดิฉันได้มีโอกาสผลักดันนโยบายนี้ให้กับชาวนา

แม้การผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี ให้กับชาวนาครั้งนี้จะทำให้ดิฉันต้องเจ็บปวดก็ตาม ในการที่จะต้องอดทนต่อสู้คดีกับฝ่ายโจทก์ ที่พยายามบิดเบือน และกล่าวหา อย่างไม่เป็นธรรม ดิฉันก็จะอดทนมุ่งมั่นต่อไป เพื่อหวังว่ารัฐบาลต่อไปในอนาคต จะได้สามารถนำนโยบายสาธารณะมาสู่ประชาชนพี่น้องเราจะได้ปลดหนี้สิน จะได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับเขาบ้าง”

++วอนศาลตัดสินตามข้อเท็จจริง
นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุด้วยว่า ก่อนที่ศาลจะตัดสินคดีนี้ ใคร่ขอวิงวอนศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เข้าสู่สำนวนโดยชอบและโดยสุจริต ไม่รับฟังการชี้นำจากฝ่ายใดๆ แม้แต่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้กุมชะตาและอำนาจรัฐที่พูดชี้นำคนในสังคมเกี่ยวกับคดีของดิฉันเมื่อ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ถ้าเรื่องนี้ไม่ผิดแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้อย่างไร ซึ่งคำพูดนี้ เป็นการชี้นำ เสมือนหนึ่งว่า มีการกระทำความผิดแล้ว ทั้งๆ ที่ศาลที่เคารพ ยังไม่ได้ตัดสิน

“ดิฉันเชื่อในคำกล่าวที่ว่า ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ขอความเมตตาต่อศาลได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้องด้วย” นางสาวยิ่งลักษณ์ ระบุ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560