พอเพียงอย่างพอใจ : สังคมกับความยุติธรรม

23 ส.ค. 2560 | 07:04 น.
1485868336769

พอเพียงอย่างพอใจ
โดย...ฉาย บุนนาค

สังคมกับความยุติธรรม

มนุษย์เราหากไม่ใช่อริยบุคคล... ความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง (เหตุแห่งทุกข์) ก็ยังมีในจิตใจ ไม่มากก็น้อย

ตราบใดเรายังเป็น "อันธปุถุชน" คือปุถุชนที่มืดบอดต่อธรรมมาก จิตใจหยาบกระด้าง เป็นผู้ยากแก่การรู้ธรรม หรือ "กัลยาณปุถุชน" คือปุถุชนที่แม้จะยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่ แต่จิตใจก็มีความประณีต เบาสบายกว่าอันธปุถุชน จึงเข้าถึงธรรมได้ง่ายกว่า

เรื่อง "สองมาตรฐาน" "ความลำเอียง" "การเลือกที่รักมักที่ชัง" หรือ "ความไม่เป็นธรรม" จึงเหมือนเป็นเรื่องไม่ปกติที่ปกติในสังคมมนุษย์

ในสังคมที่มากด้วยมนุษย์นานาจิตตัง ความขัดแย้งย่อมมีปรากฏให้เห็นเสมอ ต่างคนต่างมีเหตุผลไปคนละอย่าง.

เราจึงเริ่มพัฒนาจาก "กฎหมู่" มาสู่ "กฎเกณท์" และเป็น "กฎหมาย" ที่สังคมตั้งขึ้นเพื่อใช้บังคับกับบุคคลในสังคมแต่ละยุคแต่ละสมัยแต่ละประเทศ ซึ่งไม่เหมือนกัน

ในสมัยพุทธกาลก็เช่นกันในระยะแรกๆ ของการประกาศพระศาสนา  พระพุทธองค์ไม่ได้บัญญัติพระวินัยเลยแม้แต่ข้อเดียว เพราะในระยะเริ่มแรกผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาล้วนเป็นพระอริยบุคคลทั้งนั้น ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหันต์

พระสารีบุตรคำนึงถึงความตั้งมั่นแห่งพรหมจรรย์ กราบทูลถามถึงเหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นและไม่ตั้งมั่น พระพุทธเจ้าทรงชี้ไปที่การบัญญัติสิกขาบท การสวดปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน ว่าเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ตั้งมั่น การไม่ทำเช่นนั้นทำให้พรหมจรรย์อันตรธาน พระสารีบุตรจึงกราบทูลขอให้บัญญัติสิกขาบท พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่ายังไม่ถึงเวลา คือ พระสงฆ์ยังไม่มาก ลาภสักการะยังไม่มาก ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะกิเลสดองสันดาน ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ ก็ยังไม่ต้องบัญญัติสิกขาบท ทั้งขณะนั้นภิกษุสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธเจ้าก็ล้วนเป็นพระอริยบุคคล อย่างต่ำก็เป็นพระโสดาบัน

ต่อมาหลังจากที่พระพุทธศาสนาเริ่มแผ่กว้างออกไป  เริ่มมีผู้มีจิตศรัทธาขอเข้ามาบวชในศาสนามากขึ้น ประชาชนคนทั่วไปหลังจากได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว  ก็เกิดศรัทธาอยากจะออกบวช  ก็เลยขอพระพุทธเจ้าบวช  พระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้  เมื่อบวชแล้วก็ประพฤติปฏิบัติกันไป  บางรูปก็ไม่รู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร  จึงมีการประพฤติพรหมจรรย์ถูกบ้างผิดบ้าง  จึงเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงต้องบัญญัติพระวินัยขึ้นมาเพื่อให้พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตาม

ในตลาดทุน ก.ล.ต. คือ เจ้าหน้าที่รัฐ คือ ผู้คุมกฎ คือ ผู้ริเริ่มในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อบังคับต่างๆ มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่หวังผลตอบแทน นอกจากเงินเดือนที่รัฐจ่ายเป็นค่าตอบแทน และสวัสดิการที่รัฐจัดให้เพื่อการดำรงชีพตามสมควรแห่งฐานะ ด้วยความเที่ยงตรงและเป็นธรรม!

หลายครั้งที่ ก.ล.ต.ถูกนักลงทุนบ่นว่าทำงานช้าบ้าง ไม่แก้ไขปัญหาทันเวลาบ้าง นี้เป็นเพราะมันไม่ถูกใจผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มนั้นๆ หากเราให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ (ก.ล.ต.) ให้เขาทำตามขั้นตอนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม แม้จะไม่ทันใจแต่ก็ดีกว่าบังคับให้เขามอบความอยุติธรรมให้ผู้อื่น

ความยุติธรรม เป็นแนวคิดเกี่ยวกับความถูกต้องตามศีลธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรม ความสมเหตุสมผล กฎหมาย ความเที่ยงธรรม (equity) และความเป็นธรรม (fairness)

ประชาชนทั้งหลายมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันตามกฎหมายโดยปราศจาก "การเลือกปฏิบัติ"

ผมขออนุญาตอัญเชิญความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันที่ 29 ตุลาคม 2522 ว่า

“...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รู้กฎหมาย แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้ว ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามคนที่รู้กฎหมายแต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริตควรต้องถือว่าทุจริต...”

คอลัมน์ : พอเพียงอย่างพอใจ / หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3290 ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค.2560

E-BOOK แดง