สกัดเงินร้อน4แสนล. ซุก‘นอนเรสิเดนต์’

27 ส.ค. 2560 | 10:30 น.
แบงก์ชาติสกัดเก็งกำไรบาท สั่งแบงก์รายงานถี่ยิบต่างชาติขนเงินพักบัญชีนอนเรสิเดนต์ ล่าสุดยอดบวมกว่า 4.19 แสนล้านบาท รอลงทุนพันธบัตร-ตลาดหุ้น สมาคมตราสารหนี้แจงยังไม่พบธุรกรรมน่าสงสัย ส่วนใหญ่ลงทุนหุ้นกู้ระยะยาว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานธุรกรรมเงินฝากในบัญชีของผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ(Non-Resident) ที่เข้ามาฝากในธนาคารพาณิชย์ไทย ล่าสุดเดือนมิถุนายน มีจำนวน 419,464 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินฝากกระแสรายวัน 23,802 ล้านบาท เงินฝากออมทรัพย์ 236,542 ล้านบาท และเงินฝากประจำ 159,120 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับต้นปีเงินฝากบัญชีนอนเรสิเดนต์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเดือนมกราคมอยู่ที่ 387,518 ล้านบาท เพิ่มเป็น 387,955 ล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์เป็น 390,889 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม และเพิ่มเป็น 418,291 ล้านบาท ก่อนจะปรับลดลงเล็กน้อยมาที่ 402,759 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม

นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า เงินฝากนอนเรสิเดนต์ ส่วนใหญ่จะเข้ามาฝากไว้ที่บัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งจะไม่มีดอกเบี้ย เพื่อพักเงินไว้ลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยหวังผลตอบแทน 2 เด้ง จากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรและการแข็งค่าของเงินบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารต่างประเทศ และกองทุน

เงินฝากนอนเรสิเดนต์อีกส่วนหนึ่งประมาณ 30% จะถูกพักไว้ที่บัญชีเงินฝากประจำ จะได้รับดอกเบี้ยกับคนไทยที่ฝากเงิน แต่คุณสมบัติผู้ฝากเงินจะไม่ใช่ธนาคาร จะเป็นบริษัท หรือกองทุน

ขณะที่ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าประมาณ 7% ความเคลื่อนไหวมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากนอนเรสิเดนต์ ซึ่งธปท.เกาะติดความเคลื่อนไหวมาตลอด ก่อนออกมาตรการล่าสุดให้ธนาคารติดตามและรายงานธุรกรรมของบัญชีเงินฝากนอนเรสิเดนต์ เพื่อสกัดการเก็งกำไรในค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ และแข็งค่ามาที่ 35.820 บาทในเดือนมกราคม 2560 ในเดือนกุมภาพันธ์แข็งค่ามาที่ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ และ 34.35 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนมีนาคม ก่อนจะกลับไปอ่อนค่าเล็กน้อยมาที่ 34.58 บาท ต่อดอลลาร์ในเดือนเมษายน และกลับมาแข็งค่าเป็น 34.05 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม และ 33.96 บาทในเดือนมิถุนายน 2560 ล่าสุดอยู่ที่ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับ Yield ของพันธบัตรระยะยาวที่ลดลงต่อเนื่อง

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า สัญญาณการเข้ามาลงทุนของนอนเรสิเดนต์ครึ่งปีแรกพบว่ามีสัดส่วนอยู่ที่ 10.2% ของมูลค่าคงค้างจำนวน 722,800 ล้านบาทโดยเพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2559 มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.8% และมากกว่า 90% ลงทุนในพันธบัตรอายุมากกว่า 1 ปี

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานของดอลลาร์สหรัฐฯไม่ดีทำให้นักลงทุนต้องหาสินทรัพย์อื่นที่มีความปลอดภัยซึ่งเงินบาทถูกรวมเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ดังนั้นแม้ผลตอบแทนจะไม่มากนักลงทุนหวังใน Volume และช่วงนำเงินออกถ้าเงินบาทแข็งค่านักลงทุนจะมีโอกาสมีกำไรส่วนต่าง

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวว่า พื้นฐานยังไม่เอื้อต่อสกุลเงินดอลล์ และยูโร ทำให้เห็นเงินทุนไหลเข้ามาในไทย เพราะนักลงทุนไม่สบายใจกับทางเลือกอื่น เงินบาทมีความปลอดภัยสูงที่สุด ส่วนจะมีการเก็งกำไรหรือไม่นั้น ธปท.จะเห็นตัวเลขของระบบได้ดีที่สุด

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิพันธบัตรกว่า 2 แสนล้านบาทส่วนใหญ่เป็นการลงทุนระยะสั้น

ส่วนแนวโน้มพฤติกรรมเก็งกำไรดังกล่าว น่ากังวลจนถึงขั้นต้องออกมาตรการสกัดเงินร้อนหรือไม่นั้น ปัจจุบันสัดส่วนการถือครองพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 10% และหากเทียบมาเลเซียที่มีต่างชาติถือครองพันธบัตรมากกว่า 30% จึงขึ้นอยู่กับนโยบายว่าไทยจะเปิดกว้างให้ต่างชาติขยายเพดานการถือครองพันธบัตรเพิ่มขึ้นเพียงไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560