สศก.ชี้ 9 เดือนเกษตรกรหันใช้บริการเครื่องจักรกลเกษตรเพิ่ม

22 ส.ค. 2560 | 11:37 น.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ติดตามผลรอบ 9 เดือน โครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุปกรณ์การตลาด เผยเกษตรกรให้ความสนใจหันมาใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯมากขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าบริการ สร้างกำไรเพิ่ม

นางสาวรังษิต  ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามการดำเนินงาน “โครงการส่งเสริมการให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรและอุปกรณ์การตลาดเพื่อลดต้นทุนสมาชิก” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต ทดแทนแรงงานภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการให้บริการเครื่องจักรกลของสหกรณ์

การดำเนินโครงการ มี 2 ระยะ คือ ระยะนำร่อง ปี 2558 ซึ่งจะสนับสนุนเครื่องจักรกลแบบให้เปล่าหรือครอบคลุมมูลค่าของเครื่องจักรกลเกือบทั้งหมด และ ระยะขยายผล ปี 2559 – 2562 ซึ่งจะส่งเสริมให้สหกรณ์ฯ กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยโครงการฯ จะชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีสำหรับผลการติดตามในรอบ 9 เดือน ปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.59 – มิ.ย.60) พบว่า เกษตรกรสมาชิกให้ความสนใจหันมาใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ มากขึ้น โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนค่าบริการเกี่ยวนวดข้าวและการสีข้าวโพด ส่งผลให้มีกำไรจากการขายเพิ่มขึ้น  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบอัตราค่าบริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่สหกรณ์คิดกับสมาชิก รวมทั้งความสนใจการใช้บริการเครื่องจักรกลของสมาชิก แบบก่อนและหลังสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ (2558/2559 และ 2559/2560) พบว่า

สหกรณ์ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  โดยสหกรณ์ฯ นิคมสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา มีอัตราค่าบริการเครื่องสีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 19 และเกษตรกรสมาชิกหันมาใช้บริการเครื่องจักรกลจากสหกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สหกรณ์ผู้ปลูกข้าว สหกรณ์ฯ เกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ดและสหกรณ์ฯ ห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ แม้อัตราค่าบริการรถเกี่ยวนวดข้าวยังคงเท่าเดิม แต่เกษตรกรสมาชิกหันมาใช้บริการเครื่องจักรกลจากสหกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 78 และร้อยละ 100 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ค่าบริการ สหกรณ์ทั้ง 2 กลุ่ม (ปลูกข้าว และปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) จะเก็บค่าบริการสมาชิกต่ำกว่าค่าบริการของผู้ประกอบการอื่นๆ อยู่แล้ว นอกจากนี้ ภายหลังเข้าร่วมโครงการ สหกรณ์ฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้สมาชิกรับทราบอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สมาชิกหันมาใช้บริการเครื่องจักรกลจากสหกรณ์ฯ มากขึ้น

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อค้นพบ เนื่องจากมีเกษตรกรสมาชิกจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันจำนวนเครื่องจักรกลที่ได้รับการสนับสนุนยังมีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ  และในส่วนของการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ค่อนข้างเข้มงวดมาก จึงทำให้มีเฉพาะสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนหมุนเวียนสูงและทำธุรกิจหลายประเภทเท่านั้นที่สามารถผ่านเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการได้ ดังนั้น หากมีการทบทวนและพิจารณาเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการให้เหมาะสมและผ่อนปรน จะเปิดโอกาสให้สหกรณ์อื่นๆ มีโอกาสมากยิ่งขึ้น