ไทยสมายล์มั่นใจQ4มีกำไร ยํ้านโยบายหลักสนับสนุนทีจี

26 ส.ค. 2560 | 10:00 น.
ไทยสมายล์ มั่นใจไตรมาส 4 ปีนี้ธุรกิจพลิกฟื้นทำกำไร หลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โฟกัส 3
เรื่องใหญ่ โดยเพิ่มการใช้งานเครื่องบินเป็น 10 ชั่วโมงต่อวัน การเปิดรูตบินใหม่สู่เมืองบอมเบย์ ทั้งหนุนใช้สนามบินภูเก็ตฮับบินสู่จีน-ไต้หวัน เชื่อมการขายกับการบินไทย พร้อมย้ายสำนักงานมารวมกัน “อุษณีย์” ยํ้านโยบายหลักต้องสนับสนุนการบินไทยอย่างจริงจัง

หลังจากสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งมีบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้น 100% เปิดให้บริการมานานกว่า 5 ปี และประสบปัญหาการขาดทุนมาโดยตลอด ทำให้ที่ผ่านมาการบินไทย ได้หันมาดูแลไทยสมายล์ให้เข้มงวดขึ้น โดยหวังจะให้สายการบินนี้สามารถสร้างกำไร โดยเริ่มตั้งแต่การย้ายการให้บริการของไทยสมายล์จากที่ให้บริการทั้งที่สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ปรับนโยบายให้มาเปิดให้บริการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพียงฮับเดียว
รวมถึงก่อนหน้านี้ก็ให้การบินไทย รับซื้อที่นั่งจากไทยสมายล์ มาส่วนหนึ่ง เพื่อนำไปขายต่อ และล่าสุดแผนการเชื่อมโยงระบบการขายระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์ ที่มีการพูดกันมานาน ในที่สุดก็สามารถดำเนินการได้ ที่จะทำให้ทิศทางของไทยสมายล์ต้องสนับสนุนการบินไทยได้อย่างจริงจัง และทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ด้วย

นายวิวัฒน์ ปิยะวิโรจน์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยสมายล์ เผยว่า ไทยสมายล์ มั่นใจว่าภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ธุรกิจของสายการบินจะเริ่มกลับมาพลิกฟื้นทำกำไรได้ หลังสายการบินได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินการหลักๆ โดยเน้นใน 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ เรื่องแรก เป็นการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบินจากเดิม 7 ชั่วโมงต่อวันเพิ่มมาเป็น 10 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ ไปยังเมือง บอมเบย์ ประเทศอินเดีย

MP22-3290-2 ขณะเดียวกันจะใช้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางทางการบิน โดยจะเปิดเส้นทางบินตรงจากภูเก็ตไปเมืองเกาชุน ไต้หวัน จำนวน 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เริ่มทำการบินเดือนตุลาคมและจะเปิดบินจากภูเก็ตไปเซี่ยงไฮ้, ภูเก็ต-กวางเจาด้วย

เรื่องที่ 2 สายการบินได้มุ่งหารายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ไทยสมายล์ ได้เปลี่ยนระบบสำรองที่นั่ง,ระบบการออกบัตรโดยสาร, ระบบการควบคุมการสำรองที่นั่ง (Inventory) และระบบเช็กอินผู้โดยสาร (Departure Control) มาใช้ระบบอะมาดิอุส อัลเทีย ทำให้สามารถเชื่อมโยงระบบการขายเข้ากับการบินไทยได้ ทำให้เกิดการขายแบบอินเตอร์ไลน์ได้ เนื่องจากใช้ระบบจองตั๋วเดียวกับการบินไทย และระบบนี้จะช่วยให้ผู้โดยสารจากต่างประเทศจองตั๋วได้สะดวกและสามารถผ่านการตรวจกระเป๋าสัมภาระเพียงครั้งเดียว ได้ทั้งการบินไทยและสายการบินพันธมิตรทุกสาย ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย ใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เช่น การให้บริการภาคพื้น, การโฆษณา เป็นต้น
ด้านนางอุษณีย์ แสงสิง-แก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ จะดำเนินการย้ายสำนักงานของไทยสมายล์ทั้งหมด ไปอยู่ที่การบินไทย ส่วนสำนักงานเดิมที่ ยังไม่หมดสัญญาเช่า ก็จะต้องหาผู้เช่ารายใหม่มาเช่าต่อ เพื่อให้ง่ายต่อการประสานงานและประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้จะจัดโครงสร้างการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลังจากได้ส่งผู้บริหารจากการบินไทยเข้าไปช่วยดูแลด้านการตลาด การวางแผนร่วมกัน เพื่อเสริมและแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ เช่นเดียวกับที่มีการเข้าไปแก้ปัญหาในสายการบินนกแอร์ ทั้งจะเน้นนโยบายหลักที่จะให้ไทยสมายล์ต้องสนับ สนุนการบินไทยอย่างจริงจัง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560