ซัพพลายเชนโลกระทึก!หวั่นสหรัฐ-โสมขาวซ้อมรบจุดชนวนสงคราม

24 ส.ค. 2560 | 03:00 น.
สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลียังคงความร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง และยังคงอยู่ในเกมดูเชิงระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ การซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้กลายเป็นประเด็นใหม่ที่หลายฝ่ายจับตาว่าจะกลายเป็นตัวจุดชนวนสงครามหรือไม่ และถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ บริษัทเอกชนข้ามชาติหลายรายอาจจะได้รับผลกระทบนับพันล้านดอลลาร์

การซ้อมรบร่วมประจำปีระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ในสัปดาห์นี้ อาจจะทำให้ประธานาธิบดีคิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือและประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กลับมาเผชิญหน้าและโลกเข้าสู่ภาวะลุ้นระทึกกันอีกครั้ง
สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานถ้อยแถลงของประธานาธิบดีมูน แจ-อิน แห่งเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าเกาหลีเหนือขยับเข้าใกล้ “เส้นแดง” มากแล้ว แต่กองทัพของเกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกองกำลังของหลายประเทศก็พร้อมร่วมซ้อมรบในสัปดาห์นี้และหลายสัปดาห์ข้างหน้า เพื่อ “เตรียมตัว” สำหรับสงครามที่อาจปะทุขึ้นได้ ขณะเดียวกันเกาหลีเหนือได้ออกมาตอบโต้ข่าวการซ้อมรบดังกล่าวว่า เป็น “พฤติกรรมอันธพาล” ที่อาจนำทุกฝ่ายไปสู่สงครามนิวเคลียร์ที่ไม่อาจควบคุมได้

[caption id="attachment_198062" align="aligncenter" width="464"] ซัพพลายเชนโลกระทึก!หวั่นสหรัฐ-โสมขาวซ้อมรบจุดชนวนสงคราม ซัพพลายเชนโลกระทึก!หวั่นสหรัฐ-โสมขาวซ้อมรบจุดชนวนสงคราม[/caption]

สถานการณ์คุกรุ่นดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อบรรดาธุรกิจเอกชนที่มีธุรกรรมเกี่ยวเนื่องหรือทำรายได้ในสัดส่วนที่สูงจากตลาดเกาหลีใต้ ผลกระทบจะส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกเนื่องจากเกาหลีใต้เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในเครือข่ายซัพพลายเชนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน รถยนต์ หรือโทรทัศน์จอแบน ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า ในบรรดาบริษัทต่างชาติที่ทำรายได้มากกว่าปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากตลาดเกาหลีใต้นั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ยกตัวอย่าง บริษัท 
ควอลคอมม์ฯ จากเมืองซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา ผู้ผลิตชิปที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก และบริษัท แอพพลายด์ แมตทีเรียลส์ อิงค์ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จากซิลิคอน วัลลีย์ ทั้งคู่ทำยอดขายประมาณ 17% ของยอดขายทั่วโลกจากตลาดเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับบริษัท เอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้งฯ ผู้ผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของยุโรป ที่มีรายได้ราว 1 ใน 4 ของทั้งหมดจากเกาหลีใต้เช่นกัน

จอห์น เดวีส์ นักวางกลยุทธ์การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์จากบริษัท บีเอ็มไอ รีเสิร์ช ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็นว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าชั้นกลาง (intermediate goods) ซึ่งต้องนำไปใช้ในการผลิตสินค้า จึงเป็นส่วนที่สำคัญมากในระบบซัพพลายเชนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ถ้าหากว่าการดำเนินงานในเกาหลีใต้ประสบภาวะชะงักงันหรือมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะยาว เช่น โรงงานถูกทำลายได้รับความเสียหาย นั่นก็จะทำให้เกิดภาวะสะดุดขัดในระบบซัพพลายเชนไปทั่วโลก

เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ความเสียหายจากภาวะสงครามไม่เพียงส่งผลกระทบต่อบริษัทที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในเกาหลีใต้หรือมีเครือข่ายซัพพลายเชนเกี่ยวเนื่องกับเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงบริษัทที่พึ่งพาเกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออก เช่น บีเอ็มดับเบิลยู และเมอร์เซเดส-เบนซ์ 2 แบรนด์รถยนต์ต่างชาติที่ทำยอดขายสูงสุดในบรรดารถยนต์นำเข้าที่ทำยอดขายรวม 225,000 คันในเกาหลีใต้ (สถิติปี 2559) ด้านบริษัทสตาร์บัคส์ฯ เชนร้านกาแฟดังจากสหรัฐฯ คาดว่าในปีที่ผ่านมาจะทำยอดขายกว่า 1 ล้านล้านวอน (ประมาณ 876 ล้านดอลลาร์) เกาหลีใต้เป็น 1 ใน 5 ประเทศในโลกที่มีจำนวนร้านสตาร์บัคส์มากกว่า 1,000 สาขา

ส่วนบริษัท มินิสต็อปฯ ผู้ค้าปลีกจากประเทศญี่ปุ่นในเครือบริษัท อิออน เป็นธุรกิจในกลุ่มคอนซูเมอร์ที่มีสัดส่วนยอดขายจากตลาดเกาหลีใต้มากที่สุด (56%)บริษัทมีร้านสะดวกซื้ออยู่ในเกาหลีใต้ถึง 2,400 สาขา ซึ่งมาก
กว่าจำนวนสาขาที่มีอยู่ในญี่ปุ่นที่เป็นประเทศต้นกำเนิดด้วยซํ้า “เราไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษภายใต้ความตึงเครียดของสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแต่บริษัทก็เตรียมพร้อมอยู่เสมอที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราจะทำให้ดีที่สุด” นายคิมิคะซึ สุกะวะระ โฆษกของบริษัทมินิสต็อปฯกล่าว และสำหรับบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้เองไม่ว่าจะเป็นซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีรายใหญ่ที่สุด หรือแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ยักษ์ใหญ่อีกรายที่โด่งดังระดับโลก แม้จะมียอดขายส่วนใหญ่จากตลาดต่างประเทศ แต่ฐานการผลิตหลักๆก็อยู่ในประเทศบ้านเกิดซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายหากเกิดภาวะสงคราม ในสถานการณ์เช่นนี้ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในเกาหลีใต้ล้วนตกอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน ข้อพิพาทที่รอวันปะทุมีผลชะลอการตัดสินใจลงทุนรวมทั้งการจ้างงานใหม่อย่างไร้ข้อกังขา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560