สศก.ชูผลประเมินรายได้29จังหวัด เกษตรกรข้าวโพดมีรายได้กว่า279ล.

22 ส.ค. 2560 | 06:24 น.
สศก.ส่งเสริมเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 29 จังหวัด เผย ภาพรวมเกษตรกรพึงพอใจโครงการในระดับมาก สามารถผลิตได้ 163,094 ตัน มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 300 บาทต่อไร่ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 279.25 ล้านบาท

นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินผลโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดพื้นที่และผลผลิตข้าว โดยให้เกษตรกรเรียนรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งในพื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปี นำไปสู่การปรับระบบการปลูกข้าวที่ถูกต้อง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทน โดยผลการติดตามในพื้นที่ 29 จังหวัด (82.86% ของจังหวัดเป้าหมายรวม 35 จังหวัด)

343555

"พบว่า ปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการได้เฉลี่ย 1,095 กิโลกรัมต่อไร่ รวม 163,094 ตัน มูลค่า 827.20 ล้านบาท โดยเกษตรกร 57.39% ขายผลผลิตให้ภาคเอกชนที่ร่วมโครงการ เฉลี่ย 9,437 กิโลกรัม/ราย ราคาที่จำหน่ายได้เฉลี่ย 5.18 บาท/กิโลกรัม ส่วนเกษตรกร 42.61% ขายผลผลิตให้แหล่งอื่นๆ ได้แก่ ร้านค้า ตลาดทั่วไป พ่อค้าคนกลาง เฉลี่ย 13,780 กิโลกรัม/ราย ในราคาเฉลี่ย 4.97 บาท/กิโลกรัม โดยเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 300 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจส่งต่อเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 279.25 ล้านบาท "

สำหรับเกษตรกรที่เสนอขอสินเชื่อ ธ.ก.ส. ในโครงการ พบว่า 94.92% ผ่านการพิจารณาและได้รับอนุมัติสินเชื่อ มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่ผ่านเงื่อนไข เช่น อายุมาก วงเงินเต็ม ส่วนเกษตรกรที่ไม่เสนอขอสินเชื่อนั้น เห็นว่า มีหนี้สินอยู่แล้วไม่อยากเป็นหนี้เพิ่มขึ้น บางรายใช้ทุนตัวเอง มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดน้อยไม่คุ้มกับการกู้ อย่างไรก็ตาม เกษตรกร 96.43% สามารถทำตามเงื่อนไขโครงการได้ โดยนำเงินกู้ไปซื้อปัจจัยการผลิต

ปรับปรุงพื้นที่ตามโครงการได้ทั้งหมด มีเพียง 3.57% ทำตามได้บางส่วน เนื่องจากนำเงินกู้บางส่วนไปเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น เช่น เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้หนี้เดิม ธ.ก.ส. เป็นต้น โดยเกษตรกร ต้องการให้รัฐช่วยผ่อนปรนเงื่อนไข/หลักเกณฑ์ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่มีหนี้สินเดิมกับ ธ.ก.ส. เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมทั้งผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะด้านราคาผลผลิตของเกษตรกร

ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก และมีแนวโน้มที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนในพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในฤดูกาลต่อไป เนื่องจากมีความรู้และประสบการณ์ปลูกข้าวโพดแล้ว แต่การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไปทำกิจกรรมอื่นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการได้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง