กสอ.เผยอุตฯอาหารแปรรูปไทยทิศทางยังเป็นบวก

21 ส.ค. 2560 | 13:19 น.
กสอ. เผยอุตฯอาหารแปรรูปไทยทิศทางยังเป็นบวก ชี้กลุ่มอาหารพร้อมทาน น้ำมะพร้าว ขนมขบเคี้ยวเป็นดาวรุ่ง พร้อมโชว์เครื่องดื่มสัญชาติไทยแรงต่อเนื่องในตลาด CLMV

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทยที่มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S – Curve ที่มีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมุ่งมั่นผลักดันภาคดังกล่าวให้เป็น Food Hub หรือหุบเขาอาหารของโลก ในปีที่ผ่านมานั้นอุตสาหกรรมอาหารของไทยถือว่ายังคงมีศักยภาพในฐานะของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออก โดยจากสถิติพบว่าปริมาณการผลิตโดยภาพรวมมีการหดตัวลงเล็กน้อย โดยมีผลผลิตรวมกว่า 29.8 ล้านตัน ซึ่งจากตัวเลขที่เกิดขึ้นและเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ยังนับว่าปริมาณการผลิตตามจำนวนดังกล่าวอยู่ในปริมาณที่มาก และเชื่อว่ายังเติบโตและพัฒนาได้อีก โดยเฉพาะการเพิ่มในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การชูสินค้าให้น่าเชื่อถือด้วยนวัตกรรม การเชื่อมโยงงานวิจัยที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ต้องมีความทันสมัยเพื่อให้ก้าวต่อในระดับสากลได้มากขึ้น

[caption id="attachment_197876" align="aligncenter" width="335"] ดร.พสุ โลหารชุน ดร.พสุ โลหารชุน[/caption]

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่มีปริมาณการผลิตมากที่สุดสามอันดับแรกพบว่าอยู่ในสินค้ากลุ่มน้ำตาลทราย อาหารสัตว์ และธัญพืชและแป้ง สินค้าที่มีปริมาณการจำหน่ายสูงสุดได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์และผลิตภัณฑ์นม แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ ธัญพืชและแป้ง และผลิตภัณฑ์นมกลับพบว่ามีการขยายตัวในด้านปริมาณการจำหน่ายมากที่สุด โดยขยายตัวได้ 17.31%, 12.87% และ4.57% ตามลำดับซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มกุ้ง ไก่ สับปะรดกระป๋อง รวมถึงผักผลไม้บางประเภทยังพบอีกด้วยว่ามีการจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศในปริมาณที่สูงขึ้น

Food & AGRO 2017 อีกหนึ่งสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยที่มีความโดดเด่นและน่าจับตามองอีกกลุ่มหนึ่ง  คือ กลุ่มสินค้าประเภทเครื่องดื่มในกลุ่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งในปีที่ผ่านมาพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 1,153.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดที่สำคัญคือ ตลาด CLMV เนื่องจากในกลุ่มประเทศนี้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภคชั้นกลางที่ทำให้กลุ่มสินค้าต่าง ๆ มีอุปสงค์ที่สูงตามมา ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มอาหารแปรรูป และกลุ่มสินค้าด้านการเกษตร โดยในด้านการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ พบว่า ผู้บริโภคมีความต้องการและชื่นชอบสินค้าเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มสมุนไพร น้ำผลไม้ กาแฟ/ชาพร้อมดื่ม นมถั่วเหลือง และนมพร้อมดื่ม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่สินค้าจากไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับกลุ่มประเทศเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

[caption id="attachment_197878" align="aligncenter" width="503"] น้ำอ้อยก้อน น้ำอ้อยก้อน[/caption]

ดร.พสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มและทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในปี 2560 เชื่อว่าจะมีการขยายตัวที่ดีกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งไม่ค่อยน่าเป็นห่วงหรือรุนแรงเท่ากับปีที่ผ่านมา ผนวกกับสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ยังคงสดใสและเป็นปัจจัยให้เกิดการบริโภคสินค้าหลายประเภทในปริมาณที่มากขึ้น รวมทั้งตลาดผู้บริโภคในระดับต่าง ๆ ที่อัตรากำลังซื้อยังคงขยายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมาตรการและนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ การมุ่งสู่ความเป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและครัวของโลก การนำเทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการต่าง ๆ อย่างครบวงจร รวมถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะร่วมสนับสนุนกันตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ภาพลักษณ์และมาตรฐานของอาหารไทยก้าวสู่ประสิทธิภาพระดับที่ดีมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยให้มูลค่าของอุตสาหกรรมนี้มีการเติบโต โดยอาจสูงถึง 1 ล้านล้านบาทตามที่คาดการณ์ไว้

[caption id="attachment_197879" align="aligncenter" width="503"] น้ำผลไม้ปั่น น้ำผลไม้ปั่น[/caption]

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างสูงในปี 2560 – 2561 กสอ. คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุง โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนื่องจากรสชาติและเอกลักษณ์ของอาหารไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นทุนเดิม รวมทั้งการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย ตามด้วยกลุ่มเครื่องดื่มโดยเฉพาะน้ำมะพร้าว เนื่องจากจุดเด่นในเรื่องของรสชาติ พร้อมด้วยการโฆษณาตามสื่อต่าง ๆ อีกทั้งความนิยมที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ไว้ว่าในอีก 3 ปี การเติบโตของตลาดน้ำมะพร้าวจะเพิ่มสูงถึง 27% คิดเป็นมูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดจนกลุ่มขนมขบเคี้ยวที่ในปีที่ผ่านมาเติบโตถึงกว่า 9.5% มีมูลค่าตลาดกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท โดยในปีนี้อาจจะขยับขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ มันฝรั่งทอดกรอบ สาหร่ายทะเล ปลาเส้น สินค้าจากถั่วลิสง

[caption id="attachment_197880" align="aligncenter" width="503"] ขนมครกอบกรอบ ขนมครกอบกรอบ[/caption]

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปไทยจำเป็นต้องติดตาม และหมั่นเข้าถึงกระแสผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้กระบวนการผลิตสินค้าแต่ละประเภทเกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และการมีข้อได้เปรียบที่เหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งนี้ กสอ. ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้ม วามต้องการของผู้บริโภคที่จะเป็นปัจจัยสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับครึ่งหลังของปี 2560 และปี 2561 ได้แก่ 1. เน้นความปลอดภัยและใส่ใจสุขภาพ โดยต้องเน้นในเรื่องความเป็นธรรมชาติ 100 %หรือใกล้เคียง การลดรสชาติหรือสารปรุงแต่งบางประเภท อาทิ น้ำตาล โซเดียม ตลอดจนการเพิ่มคุณค่าด้วยการดัดแปลงสู่อาหารฟังก์ชั่น เป็นต้น 2. ใส่ใจบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เนื่องจากแพ็กเกจจิ้งที่ดูสวยงาม แข็งแรงทนทาน มีการบอกเล่าเรื่องราวและให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทที่ครบถ้วน จะช่วยให้เกิดการดึงดูดและส่งผลต่อด้านจิตวิทยาในการเลือกซื้อได้เป็นอย่างดี 3. ใช้นวัตกรรมและงานวิจัย สำหรับอาหารแปรรูป นวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะทั้งในกระบวนการผลิต ตัวสินค้า และหีบห่อบรรจุ โดยผลจากการใช้งานวิจัยหรือนวัตกรรมจะต้องให้ผู้บริโภครู้สึกว่าบริโภคแล้วปลอดภัย เก็บไว้ได้นาน และยังต้องเกิดความเชื่อด้านความคุ้มค่ากับการเลือกจ่ายสินค้าอีกด้วย 4. ไม่เคยมีสินค้าในท้องตลาดและสามารถแบ่งปันได้ในสังคมออนไลน์ ด้วยพฤติกรรมการเข้าถึงสื่ออนไลน์ที่เพิ่มอย่างไม่หยุดยั้ง อาหารจัดว่าเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ผู้ใช้สังคมออนไลน์มักจะแบ่งปันข่าวสารให้บุคคลใกล้ชิดรับทราบ ทั้งนี้ การทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ว่าเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ได้บริโภค หรือเมื่อเกิดการแบ่งปันแล้วได้รับความนิยม ย่อมจะเป็นจิตวิทยาอีกประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิดการบอกต่อโดยที่อาจไม่ต้องเสียค่าโฆษณา และจะทำให้สินค้าเป็นที่นิยมในช่วงเวลาหนึ่งอีกด้วย 5.กินง่ายมีขายทุกที่ ด้วยสังคมที่เปลี่ยนไปสู่ความเร่งรีบ อาหารพร้อมรับประทานเป็นสินค้าทางเลือกประเภทหนึ่งที่คนในสังคมเมืองเลือกบริโภคและยิ่งจะทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคจะเน้นในเรื่องของความสะดวกและรวดเร็ว แต่ผู้ผลิตก็ยังต้องใส่ใจในเรื่องของคุณค่า รสชาติ และรูปลักษณ์ ให้สอดคล้องกับวิถีชิตที่มีความหลากหลายและไม่จำกัด รวมถึงในเรื่องของเหตุผลและอารมณ์ซึ่งเป็นสองปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า

[caption id="attachment_197884" align="aligncenter" width="503"] น้ำฟักข้าว น้ำฟักข้าว[/caption]

ดร.พสุ กล่าวปิดท้ายว่า กสอ. ได้มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอาหารแปรรูปมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร ภายใต้โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ SMEs สู่ตลาดโลก (Global Reach) ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในทุกกระบวนการ เริ่มตั้งแต่งานวิจัย การผลักดันเรื่องนวัตกรรม การปรับปรุงกระบวนการผลิต การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการให้คำปรึกษาในด้านกลยุทธ์การตลาด ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการมีศักยภาพที่ดี สามารถเพิ่มมูลค่าและขยายสู่ช่องทางตลาดระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดสินค้าที่สามารถยกระดับด้วยนวัตกรรมหลากหลาย อาทิ น้ำอ้อยก้อน นวัตกรรมการยืดอายุน้ำอ้อยในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูปที่ช่วยให้เก็บได้นานแต่ยังคงไว้ซึ่งรสชาติเดิม ขนมครกอบกรอบ อาหารหวานแปรรูปที่ยังคงรูปลักษณ์  และกลิ่นรสของขนมครกดั้งเดิมไว้แต่มีอายุการเก็บรักษายาวนานสามารถผลิตไว้ล่วงหน้าได้และจำหน่ายเป็นของฝากบนโมเดิร์นสโตร์ น้ำผลไม้พร้อมปั่น ที่สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องและมีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม สำหรับการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคที่สามารถนำกลับไปปั่นรับประทานเองที่บ้านได้ เป็นต้น