กรธ.ย้ำคุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ขัด รธน.

21 ส.ค. 2560 | 13:59 น.
โฆษก กรธ.แถลงความคืบหน้าร่างกฎหมายลูกประกอบรธน. 5ฉบับ ชี้กรรมการ คตง.ไม่มีการเซตซีโร่ ขณะที่คุณสมบัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องไม่ขัด รธน. คาดส่งให้สนช.พิจารณา ก.ย.นี้

 

วันนี้ (21 ส.ค. 60) - ที่รัฐสภา นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ของกรธ. จำนวน 5 ฉบับที่ในขณะนี้ว่า ล่าสุด กรธ.จะส่งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)พ.ศ... ให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ซึ่งได้มีการซักถามคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่าตัวร่างฯมีจุดต้องแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการ คตง.จะไม่มีการเซตซีโร่ เนื่องจากมีการสรรหา โดยใช้หลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เว้นแต่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)จะต้องให้ คตง.ชุดที่กำลังจะเข้ามาทำงาน เป็นผู้สรรหา 01

นายอุดม กล่าวต่อว่า ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ...ขณะนี้ กรธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยอยู่ระหว่างส่งตัวร่างฯให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และหากพิจารณาแล้วเสร็จก็จะได้ส่งกลับมายังกรธ. ซึ่งคาดว่ากรธ.จะส่งให้ สนช.ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยยืนยันว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะดำรงตำแหน่งภายหลังจากที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ จะต้องไม่มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญปี2560 หรือ รีเซ็ต

ส่วนร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรร มนูญที่เหลืออีก 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ... ตอนนี้ทางเราได้ปรับแก้เนื้อหา หลังจากที่ได้หารือกับป.ป.ช.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวน ความถูกต้อง เพื่อเสนอต่อสนช.เป็นฉบับถัดไป ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พ.ศ... และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พ.ศ... ทั้ง 2 ฉบับ กรธ.ยืนยันตามหลักการที่ได้หารือในหลักการที่ จ.ระยองเมื่อวันที่ 3-6 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยในส่วนของร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยส.ส. ยังคงให้เป็นแยกเบอร์ผู้สมัครส.ส.เป็นรายเขต ส่วนร่างพ.ร.บประกอบรัฐธรรมนูญ.ว่าด้วยที่มาของส.ว. ยังใช้วิธีการเลือกไขว้ 20 กลุ่ม อาชีพในการสรรหา 200 คน คาดว่าทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นกฎหมายฉบับสำคัญ ที่จะต้องนำมาพิจารณาอีกครั้งภายในเดือน ก.ย.นี้.