สศช.ชี้ครึ่งปีหลังปัจจัยบวกดันศก.พุ่งต่อแนะรัฐเร่งหนุนSME/เกษตร

21 ส.ค. 2560 | 08:17 น.
สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส2ของปี 2560 ขยายตัว 3.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส2 ของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ 1.3% (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5% แนะรัฐต้องหาแนวป้องกันภัยธรรมชาติและสร้างความเข้มแข็งหนุนSMEsกับภาคเกษตร ต่อเนื่อง

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เผยว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส2ของปี 2560 ขยายตัว 3.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส2 ของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ 1.3% (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัว
3.5%

ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและบริการ และการใช้จ่ายภาครัฐบาล รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี 3.0% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว

สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) 13.9 %, 8.2% และ 6.5% ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.3 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 2.7% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 0.3% ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนรวมขยายตัว 0.4% โดยการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว 3.2% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 1.1% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว3.2% และการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัว3.1%

por

ในขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 7.0% โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลง18.2 % สอดคล้องกับการลดลงของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน 17.7% และอัตราการเบิกจ่าย 14.3% เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ 22.0% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมยังอยู่ในระยะแรกของการดำเนินการ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว20.5% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 17.0% ในไตรมาสแรก

ในด้านภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 56,145 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงและเร่งขึ้นจาก 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น8.0% ในไตรมาสนี้ ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 5.1% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.9% ในไตรมาสแรก และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 2.8% กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ และมันสำปะหลัง เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน (9) ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) ลดลง

เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 9.9% เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 4.9% การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 49,523 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 13.8 % เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้า 4.5% และปริมาณการนำเข้า 8.9% โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวเร่งขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกและการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ

ด้านการผลิตสาขาเกษตรกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเล็กน้อย ในขณะที่สาขาก่อสร้าง และสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาปรับตัวลดลง โดยสาขาเกษตรกรรมขยายตัวสูงและเร่งขึ้นเป็น15.8% เทียบกับการขยายตัว 5.7% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปรัง ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ (เช่น ทุเรียน สับปะรด ลำไย มังคุด และลิ้นจี่ เป็นต้น)

rice

เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวลดลง1.9 % ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลงทั้งในและต่างประเทศ โดยราคาพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เช่นเดียวกับราคาหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคายางพาราและอ้อยเพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้ ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ที่14.6% สาขาอุตสาหกรรมขยายตัว 1.0% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว1.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมสำคัญบางรายการ สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง 0.1% โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่า 30% ) ลดลง1.4 % ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วง 30% - 60% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่า60%) เพิ่มขึ้น 0.3% และ1.5% ตามลำดับ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ยานยนต์ และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 59.0% เทียบกับ 58.9% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาขาการก่อสร้างลดลง6.2% เทียบกับการขยายตัว 2.8% ในไตรมาสแรก โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลง 12.8% (การก่อสร้างของรัฐบาลลดลง 23.2% ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 20.5% ) เทียบกับการขยายตัว 8.5% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัว3.1% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 4.5%ในไตรมาสก่อนหน้า

โดยการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยและการก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้น 3.0% และ12.9% ตามลำดับ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลง1.0 % ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เป็นสำคัญ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัว 7.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 5.3 %ในไตรมาสแรก โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 625.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.4% ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 395.0 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.8 % เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.9 %ในไตรมาสก่อนหน้า

โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซีย ลาว และจีน เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 230.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว 4.6%ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 67.5 %เพิ่มขึ้นจาก 66.3% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ถือว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย% 0.1 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (284.7 พันล้านบาท) หรือคิดเป็น% 7.7 ของ GDP เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ 185.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,185.4 พันล้านบาท คิดเป็น% 40.7 ของ GDP

Rubber

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560 เศรษฐกิจไทย ปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัว3.5% – 4.0 %ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว3.2% ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มประมาณการจาก3.3% – 3.8 %ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง (3) การขยายตัวเร่งขึ้นของสาขาการผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการก่อสร้าง และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตร การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 5.7 % การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 3.2% และ 3.4 %ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.4% – 0.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.7 %ของ GDP

ส่วนการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2560 ในด้านต่างๆ มีดังนี้
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เพิ่มขึ้นจากการขยายตัว 3.1% ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัว 3.0 %ในการประมาณการครั้งก่อน ตามฐานรายได้ครัวเรือนในสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อน โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคเกษตร ฐานรายได้จากการส่งออก และฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัว 3.2% เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัว1.7 %ในปี 2559 และเท่ากับประมาณการครั้งก่อน ตามอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำที่เป็นไปตามที่คาดไว้

2.การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัว 3.4 %เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.8 %ในปี 2559 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัว% 4.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการปรับลดประมาณการการลงทุนภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 8.0% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว9.9 %ในปี 2559 โดยการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเร่งรัดเบิกจ่ายงบรายจ่ายลงทุนของเม็ดเงินคงเหลือภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบรายจ่ายเพิ่มเติม

ในขณะที่การเบิกจ่ายจากกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการลงทุนสำคัญๆ และการขอรับเงินเบิกจ่ายค่างวดงาน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 2.2% ปรับเพิ่มจากการขยายตัว 2.0% ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่2เริ่มฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ

3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัว 5.7% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 0.1 % ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัว3.6% ในการประมาณการ

ครั้งก่อน เนื่องจากการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจาก 3.3 %และ 3.6% เป็น 3.4% และ 4.0% และการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของราคาสินค้าส่งออกจากเดิม 1.5% – 2.5% เป็น2.0% - 3.0% ซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้สูงขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวสูงกว่าประมาณการของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่2 เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มสมมติฐานรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัว 4.9% เร่งขึ้นจาก 2.1% ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัว 2.9% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

sme

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2560 ควรให้ความสำคัญกับ 1) การป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบสำคัญๆ ให้ได้ตามเป้าหมาย 3) การสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อและการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สำคัญๆของรัฐบาล การดำเนินการตามโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

การดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนและส่งเสริมให้ SMEs ปกป้องความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่ การหาตลาดและขยายตลาดโดยเฉพาะตลาด CLMV และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการการศึกษาทวิภาคีและการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานต่างชาติ

4) การดูแลรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้เกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิต และการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรยากจนและฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย

5) การดำเนินการให้การผลิตนอกภาคเกษตรมีการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดย (5.1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวเร่งขึ้นและกระจายตัวเป็นวงกว้าง การติดตามและแก้ไขปัญหาการใช้นโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ และการส่งเสริมผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ

(5.2) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการดำเนินการตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง การกระตุ้นโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงก่อนหน้าให้เริ่มดำเนินการลงทุน และการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย และ (5.3) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การแก้ไขปัญหาความแออัดและการอำนวยความสะดวกของด่านตรวจคนเข้าเมือง การส่งเสริมการขายในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และนักท่องเที่ยวระยะไกล และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนและชนบท