เรื่องร้ายมักมีเรื่องดีอยู่ด้วยเสมอ 'ผลดีของการผิดนัดชำระหนี้'

20 ส.ค. 2560 | 03:59 น.
MP23-3289-A จากการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทำให้สูญเสียเงินลงทุน ทำให้ต้องไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่ผิดนัดชำระ บางท่านเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตนำมาลงทุนกับตราสารหนี้ของบริษัท ถึงขั้นเกือบหมดตัวกันเลยก็มี เมื่อความเชื่อมั่นในตลาดบี/อีหดหาย บริษัทต่างๆ ที่ใช้การระดมทุนผ่านการออกตั๋วบี/อีก็พลอยเดือดร้อนไปด้วยทำให้ต้องวิ่งหาแหล่งเงินทุนใหม่ บางรายก็ต้องหันกลับไปพึ่งวงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์

แต่ในเรื่องร้ายก็มักมีเรื่องดีอยู่ด้วยเสมอ เริ่มแรกคือ นักลงทุนก็มีการปรับตัวแยกแยะระหว่างบริษัทที่มีคุณภาพหรือเครดิตเรตติ้งสูงๆ จากบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งตํ่าจากเดิมที่ลงทุนเพราะเชื่อมั่นในธนาคารที่นำมาเสนอขาย แต่ปัจจุบันนี้ก่อนลงทุนต้องถามก่อนเลยว่าตราสารที่ไปลงทุนนี้มีเรตติ้งเท่าไหร่ เสี่ยงมากไหม เจ้าของและผู้บริหารประวัติเป็นอย่างไร มีหนี้สินเยอะไหม มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเท่าไหร่ฯลฯ ถ้าไม่มีเครดิตเรตติ้งก็ไม่เอา ไม่ลงทุน เพราะมีบทเรียนกันมาแล้ว

บริษัทผู้ออกตราสารเองต่างก็เร่งไปจ้างสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง มาทำการประเมินและจัดอันดับให้เร็วที่สุด ถ้าได้เครดิตเรตติ้งออกมาไม่สูง ก็มีการเอาหลักทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน อาคารหรือหุ้นมาเป็นหลักประกันเพิ่มให้กับนักลงทุน อัตราดอกเบี้ยที่นำเสนอให้กับนักลงทุนก็ปรับตัวเป็นธรรมมากขึ้น

MP23-3289-AB

ตัวอย่างเช่น หลายบริษัทที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิตนั้น ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระในปีนี้ เคยให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนอยู่ประมาณกว่า 4% ซึ่งสูงกว่าบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งดีๆ เพียงนิดเดียว แต่พอหลังจากที่มีความปั่นป่วนเกิดขึ้นก็ต้องเพิ่มผลตอบแทนเป็น 5-7% เพื่อดึงดูดนักลงทุน หลายบริษัทก็กลับมาทบทวนนโยบายการกู้เงิน จากที่เคยกู้เงินระยะสั้นหวังเพียงดอกเบี้ยถูกไปใช้สำหรับโครงการการลงทุนระยะยาว ก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงที่จะกู้ไม่ได้เมื่อตั๋วระยะสั้นนั้นครบกำหนด และบางรายยังมีการติดต่อธนาคารพาณิชย์ทำวงเงินสำรองไว้ เผื่อยามที่ตราสารครบกำหนดแต่ตลาดอาจไม่มีสภาพคล่อง

ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ก็เพิ่มความระมัดระวังขึ้นอย่างมาก เพราะหากนำตราสารคุณภาพตํ่านำมาเสนอขายแล้วเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะทำให้เสียชื่อเสียง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ต่างก็เข้มงวดให้ผู้จัดจำหน่ายเพิ่มกระบวนการคัดกรอง อนุมัติ การออกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า ทั้งยังต้องจัดให้มีนโยบายป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างชัดเจน จะเอาใจผู้ออกตราสารที่เป็นลูกค้ารายใหญ่โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมกับนักลงทุนรายย่อยมิได้

อุตสาหกรรมกองทุนเองก็ต้องปรับตัว การบริหารความเสี่ยง การคัดกรองตราสารหนี้ที่มีคุณภาพต้องทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น จะไปหวังพึ่งสถาบันจัดอันดับอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะแม้ว่าอาจจะมีเพียงกองทุนกองเดียวที่มีปัญหา นักลงทุนก็จะขาดความเชื่อมั่นในบริษัท พากันถอนการลงทุนจากกองทุนอื่นที่ไม่ได้มีปัญหาไปด้วย กว่าจะเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ก็ต้องใช้เวลานาน

จากที่กล่าวมาทำให้พอสรุปได้ว่า การผิดนัดชำระของ 3-4 บริษัทตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น แม้เป็นสัดส่วนเล็กน้อยไม่ถึง 0.5% ของตราสารหนี้ที่มีทั้งหมดในระบบ กลับเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ในอุตสาหกรรมการเงินการลงทุนต่างปรับตัวให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น โดยในภาพรวมระดับเศรษฐกิจมหภาคแล้วหนี้ภาคธุรกิจของบริษัทไทยยังไม่สูงมาก
บริษัทส่วนใหญ่ที่ได้บทเรียนมาจากวิกฤติปี 2540 ก็มีนโยบายการดำเนินธุรกิจและการกู้ที่รัดกุม ผมเองก็ยังหวังใจว่าตลาดจะปรับตัวอย่างรวดเร็วไม่ลุกลามต่อ และเหตุการณ์ที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นตัวช่วยเสริมสร้างรากฐานที่ดีของอุตสาหกรรมการลงทุนไทยต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,29 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560