อัยการปิดคดี‘จีทูจี’ ตอกฝาโลง‘บุญทรง-ภูมิ’

21 ส.ค. 2560 | 11:50 น.
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา พนักงานอัยการได้ยื่นคำแถลงปิดคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 28 ราย เป็นจำเลย ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษาในวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมนี้

++4 สัญญาจีทูจีเก๊
ตอนหนึ่งของคำแถลงปิดคดีนี้ พนักงานอัยการได้ชี้ข้อพิรุธในการทำสัญญาขายข้าวแบบจีทูจี ระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ของไทย กับรัฐวิสาหกิจจีน 2 แห่ง ซึ่งไม่ใช่รัฐวิสาหกิจจีนที่ได้รับมอบอำนาจจากประเทศจีน ให้ดำเนินการซื้อขายข้าว เมื่อปี 2554-2555 รวม 4 สัญญา อาทิ การอนุมัติให้ขายข้าวทุกประเภท คุณภาพแตกต่างกันในราคาเดียวกัน ผู้ซื้อจึงเลือกรับแต่ข้าวหอมมะลิ และข้าวคุณภาพดีที่มีราคาสูงไปก่อน ทั้งยังไม่ได้กำหนดปริมาณข้าวแต่ละชนิดเอาไว้ให้ชัดเจน ผู้ซื้อจึงเลือกรับข้าวตามสัดส่วนที่ต้องการได้ เพราะหากรับมอบไม่ครบถ้วนตามสัญญาก็ไม่มีสภาพบังคับ ไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เป็นต้น

สำหรับสัญญาฉบับที่ 1-3 นั้น เป็นสัญญาขายข้าวให้กับ Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. หรือ GSSG หรือ บริษัท กว่างตงฯ (หรือกวางตุ้ง) ฉบับแรก ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 ระบุขายข้าวทุกชนิดในสต๊อกของรัฐบาลซึ่งเป็นข้าวปีการผลิตเก่า (ปี 2548/2549 ถึง ปี 2552/2553) ปริมาณ 2.195 ล้านตัน โดยบริษัท GSSG มีหนังสือเสนอราคาทำสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ลงวันที่ 28 และ 30 กันยายน 2554 โดยกรมการค้าต่างประเทศได้รับไว้ในวันเดียวกัน ได้มีการแก้ไขสัญญา 5 ครั้ง กำหนดชำระราคาข้าวด้วยแคชเชียร์เช็ค 988 ฉบับ พบการ กระทำผิดช่วงการส่งมอบข้าว ระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม 2554-28 มกราคม 2556 เป็นจำนวน 1.82 ล้านตัน

tp16-3289-a ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2554 เช่นเดียวกัน ระบุ ขายข้าว, ข้าวเหนียว, ปลายข้าวหอมมะลิ และปลายข้าวขาวในคลังของรัฐบาล ข้าวปีการผลิต 2554/2555 หรือ ข้าวปีการผลิตใหม่ จำนวน 2 ล้านตัน โดย GSSG มีหนังสือเสนอราคาลงวันที่ 28 และ 30 กันยายน 2554 ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้รับไว้ในวันเดียวกัน มีการแก้ไขสัญญา 5 ครั้ง เพิ่มปริมาณเป็น 2.25 ล้านตัน ชำระราคาข้าวด้วยแคชเชียร์เช็ค 962 ฉบับ พบการกระทำผิดช่วงส่งมอบข้าว ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม 2555-22 กุมภาพันธ์ 2556 จำนวน 1.402 ล้านตัน

ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 ระบุ ขายข้าวขาว และปลายข้าวเอวันเลิศ ปีการผลิต 2555 ประเภทละ 5 แสนตัน บริษัท GSSG มีหนังสือเสนอราคา ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 กำหนดซื้อข้าวตามสัญญา 1 ล้านตัน มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา 1 ครั้ง โดยขอเพิ่มปริมาณเป็น 2.3 ล้านตัน ชำระราคาข้าวด้วยแคชเชียร์เช็ค 490 ฉบับ พบการกระทำผิดช่วงส่งมอบข้าว ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2555-22 มกราคม 2556 จำนวน 1.655 ล้านตัน

ส่วนฉบับที่ 4 เป็นสัญญาขายปลายข้าวเหนียว 65,000 ตันให้กับบริษัท ห่ายหนานฯ (ไห่หนาน หรือ ไหหลำ) ชำระด้วยแคชเชียร์เช็ค 33 ฉบับ พบการกระทำผิดในวันเบิกข้าว วันที่ 10 และ 21 กันยายน 2555 จำนวน 61,384 ตัน และจากการตรวจสอบแคชเชียร์เช็คทั้งหมดไม่ได้มาจากทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจจีนที่ทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐแม้แต่ฉบับเดียว แต่ปรากฏข้อมูลแคชเชียร์เช็ค และบัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบริษัท สยามอินดิก้าฯ ซึ่งสวมบทเป็นตัวแทนรัฐวิสาหกิจของจีนผู้ซื้อข้าวตามสัญญาแบบจีทูจีในคดีนี้

++ชำแหละเวียนเทียนขายข้าว
นอกจากนี้พนักงานอัยการยังได้บรรยายฉายภาพให้เห็นถึงกระบวนการนำข้าวที่ได้ตามสัญญาขายข้าวจีทูจีข้างต้นไปเวียนขายให้กับผู้ค้าข้าวในประเทศ และขายให้กับกลุ่มเอกชนโดยทำผ่านกลุ่มเอกชนที่เป็นผู้รับมอบอำนาจรัฐวิสาหกิจจีนและเกี่ยวพันกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด โดยตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากกรมการค้าต่างประเทศ ได้ทำสัญญาขายข้าวให้กับ GSSG ในวันที่ 6 ตุลาคม 2554

ภายในเวลาเพียง 5 วัน บริษัทสยามอินดิก้าฯ ก็ได้ตกลงทำสัญญาซื้อข้าวจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งทำธุรกิจนายหน้าที่มาจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับซื้อข้าวมาจากบริษัท GSSG ซึ่งคู่สัญญาของกรมการค้าต่างประเทศ รวม 3 ฉบับ ซึ่งสยามอินดิก้าสามารถซื้อข้าวได้ในราคาเดียวกับที่กรมการค้าต่างประเทศขายให้กับรัฐวิสาหกิจของจีนอีกด้วย โดยให้ชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายให้กับกรมการค้าต่างประเทศโดยตรง

[caption id="attachment_197039" align="aligncenter" width="503"] เครียด… บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และภูมิสาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ หารือกันอย่างเคร่งเครียด ก่อนเข้าฟังการไต่สวนเพื่อขอทุเลาการอายัดทรัพย์สินในคดี ทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่ศาลปกครอง เครียด… บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ และภูมิสาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ หารือกันอย่างเคร่งเครียด ก่อนเข้าฟังการไต่สวนเพื่อขอทุเลาการอายัดทรัพย์สินในคดี ทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่ศาลปกครอง[/caption]

ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งกับผลการตรวจสอบบัญชีที่ไม่ปรากฏ ว่า ได้ทำธุรกิจเกี่ยวพันกับบริษัทเอกชนที่อ้างถึงแต่อย่างใด
ตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏ คือ เมื่อมีการซื้อข้าวในคดีนี้แล้ว การชำระราคาข้าว และการเบิกข้าวออกจากคลังสินค้าของรัฐ ล้วนต้องอาศัยเอกสารมอบอำนาจช่วงจากเอกชนผู้รับมอบอำนาจรัฐวิสาหกิจ และเกี่ยวพันกับ สยามอินดิก้า คือ นายสมคิด เอื้อนสุภา, นายรัฐนิธ โสจิระกุล และนายลิตร พอใจ จำเลยในคดีนี้ไปดำเนินการทั้งสิ้น จากนั้นจึงจะได้รับใบเบิกข้าวจากบริษัท สยามอินดิก้าฯ

อีกรูปแบบหนึ่ง กลุ่มผู้ประกอบการค้าข้าว หรือโรงสีที่สนใจ นายนิมล หรือ โจ รักดี จะติดต่อขายข้าวให้ ขณะเดียวกันผู้ที่สนใจก็สามารถติดต่อขอซื้อข้าวกับนายนิมลได้เช่นเดียวกัน โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยรายหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับสยามอินดิก้า ก่อนติดต่อรับเอกสารกับพนักงานของบริษัทสยามอินดิก้าฯ

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.พบความเชื่อมโยงของจำเลยแต่ละรายในคดีนี้ โดยผลตรวจสอบใบเสร็จรับเงินการซื้อแคชเชียร์เช็คที่สั่งจ่ายให้กับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ในเวลาต่อมาได้นำไปเบิกข้าวจากโกดังของรัฐบาลนั้น ระบุว่าเป็นเงินที่มาจากการซื้อแคชเชียร์เช็คด้วยเงินสด และเงินที่ถอนออกจากบัญชีของกลุ่มเอกชนผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐวิสาหกิจเกี่ยวพันกับบริษัทสยามอินดิก้าฯ

อีกด้านหนึ่งก็มีข้อมูลว่า มีแคชเชียร์เช็คหลายฉบับที่กลุ่มเอกชนที่เป็นผู้ซื้อข้าวสั่งจ่ายให้กับกรมการค้าต่างประเทศโดยตรง อาทิ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็ค 4 ฉบับ จำนวน 423.73 ล้านบาท บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด 2 ฉบับ จำนวน 368.81 ล้านบาท เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันขายข้าวของรัฐให้แก่ผู้ประกอบการค้าข้าวภายในประเทศนั่นเอง

++ใครเป็นใคร ‘28 จำเลย’ คดีจีทูจี
ในคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนี้ พนักงานอัยการได้พบลักษณะการกระทำผิด และบทบาทของจำเลยตามข้อกล่าวหาในคำฟ้องทั้งหมด 28 ราย โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

ข้าราชการฝ่ายการเมือง (จำเลยที่ 1-3)
1.นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว
2.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุฯ พิจารณาระบายข้าว
3.พ.ต.น.พ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการและอดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ (หลบหนีคดี)

ข้าราชการประจำ (จำเลยที่ 4-6)
4.นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
5.นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
6.นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และอดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ

เอกชนเกี่ยวพันกับสยามอินดิก้า (จำเลยที่ 7-21)
7.นายสมคิด เอื้อนสุภา
8.นายรัฐนิธ โสจิระกุล
9.นายลิตร พอใจ
10.บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
11.น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง
12.น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์
13.น.ส.สุทธิดา ผลดี
14.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร
15.นายนิมล รักดี
16.นายสุธี เชื่อมไธสง (หลบหนีคดี)
17.นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร
18.นายกฤษณะ สุระมนต์
19.นายสมยศ คุณจักร
20.บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด/บริษัท สิราลัย จำกัด
21.น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร

ผู้ประกอบการค้าข้าว-โรงสี (จำเลยที่ 22-28)
22.ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงสีกิจทวียโสธร
23.นายทวี อาจสมรรถ หุ้นส่วนผู้จัดการ
24.บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด โดยนายทวี อาจสมรรถ
25.บ.เค.เอ็ม.ซี. อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด
26.นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการ
27.บริษัท เจียเม้ง จำกัด
28.นางประพิศ มานะธัญญา กรรมการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560