รถไฟทางคู่สายใหม่(บ้านไผ่-นครพนม) เพิ่มความสะดวกขนส่งสินค้าและโดยสาร

22 ส.ค. 2560 | 11:28 น.
นับตั้งแต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบรายละเอียด ทางวิศวกรรมและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม โดยออกแบบแล้วเสร็จเมื่อปี 2557 แต่ยังต้องดำเนินการขออนุมัติด้านอีไอเออีกประมาณ 6 เดือน ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างเร่งสรุปรายละเอียดเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติเปิดประ กวดราคาก่อสร้างในช่วงปลายปี 2560 หรือช่วงต้นปี 2561

โดยตามผลการศึกษาพบว่าแนวเส้นทางส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่ว่างเปล่า ทุ่งนา ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ไม่ผ่านพื้นที่ป่าสงวน การเวนคืนจึงไม่ยุ่งยากและใช้งบประมาณไม่มาก อีกทั้งยังจะเป็นเส้นทางที่เปลี่ยนการเดินทางของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากปัจจุบันที่ใช้รถยนต์เป็นหลักและเกิดอุบัติเหตุบ่อย มาเป็นรถไฟที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและปลอดภัยกว่า แนวเส้นทางจะเลียบชานเมือง ไม่ผ่านชุมชนหนาแน่น มีแนวเขตทางประมาณ 80 เมตรและมีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า 2 แห่งที่มุกดาหารและนครพนม ใกล้สะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม-คำม่วน) เพื่อรองรับสินค้าจากจีนและลาวอีกด้วย

tp12-3289-2a โครงการดังกล่าวมีระยะทาง 347 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 3.8 หมื่นล้านบาท ค่าเวนคืนประมาณ 3,000 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาประมาณ 700 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ประมาณ 12.3% แนวเส้นทางครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม มี 14 สถานี เริ่มจากสถานีบ้านไผ่ กุดรัง บรบือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เชียงขวัญ โพนทอง หนองพอก นิคมคำสร้อย มุกดาหาร หว้านใหญ่ ธาตุพนม เรณูนคร และสิ้นสุดที่สถานีนครพนม

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ารูปแบบโครงการเป็นเส้นทางสายใหม่ ไม่มีเขตทางเดิมจึงต้องเวนคืนใหม่ตลอดแนว เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการจะสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวจากลาวไปสู่จีนได้สะดวกขึ้นโดยจะใช้ระบบรถไฟดีเซลให้บริการด้วยความเร็ว 160 กม./ชม.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560