โตโยต้า-ฮอนด้ารับ 2 เด้ง ยอดผลิตไฮบริดโปะอีโคคาร์ ดันเป้า1แสนคันในปีที่5

22 ส.ค. 2560 | 13:44 น.
จับกระแส 2 ค่ายญี่ปุ่นที่มีความชัดเจนในการบุกตลาดรถยนต์ไฮบริด ตามการสนับสนุนของรัฐบาลอย่าง “โตโยต้า” และ “ฮอนด้า” โดยค่ายแรกได้รับอนุมัติโครงการมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาทจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ไปแล้ว ส่วนค่ายหลังยืนยันว่าจะยื่นและผ่านการ อนุมัติทันภายในเส้นตายปลายปีนี้แน่นอน

การตบเท้าลุยรถยนต์ไฮบริดถือเป็นกลยุทธ์ในระดับโลกของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งสอง ซึ่งไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเป้าหมายในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีนี้ ด้วยการเป็นฐานผลิตใหญ่และมีศักยภาพรองรับในหลายๆด้าน

อย่างไรก็ตาม ค่ายรถยนต์ที่สนใจในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมหรือไฮบริด จะต้องเสนอแพ็กเกจ ลงทุนการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนสำคัญตามเงื่อนไขที่กำหนด ถึงจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างน้อย 3 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่อง จักร รวมถึงได้รับภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษหรือต่ำสุด 5% หากปล่อยไอเสียไม่เกิน 100 กรัม/กม. (เดิม 10%)

mp32-3289-a ขณะเดียวกัน “บีโอไอ” ยังใจดีให้นำยอดผลิตรถยนต์ไฮบริดในแพ็กเกจการลงทุนนี้ ไปนับรวมกับยอดผลิตของโครงการอีโคคาร์ได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระจากเงื่อนไขการผลิต 1 แสนคันในปีที่ 5

นั่นเพราะค่ายรถยนต์ที่ผลิตไม่ถึง 1 แสนคันตั้งแต่ปีที่ 5 สิทธิประโยน์จากการยกเว้นภาษีนิติบุคคลจะถูกลดทอนลงไป หรือจากที่จะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในมูลค่าของระยะเวลา 8 ปี จะถูกหารเฉลี่ยออกไปให้สอดคล้องกับกำลังผลิตจริงที่ทำได้

“ตามเงื่อนไขกฎระเบียบในการผลิตรถยนต์อีโคคาร์เฟส 1 ให้ครบ 1 แสนคันภายในปีที่ 5 หากค่ายไหนผลิตได้ไม่ครบ อาจจะมีผลต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ” นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวและว่า

“คงต้องไปพูดคุยกันเรื่องรายละเอียดว่าหลังจากปีที่ 5 ,6,7,8 จะเป็นอย่างไร เพราะทุกค่ายที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอีโคคาร์นั้น มีการลงทุนสูงซึ่งไทยได้รับประโยชน์หลายด้าน ประกอบกับเศรษฐกิจโดยรวมทั้ง ต่างประเทศ หรือในประเทศ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทำให้กระทบกับผู้ผลิตรถยนต์เหล่านั้น โดยมีผลทั้งการขายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลน่าจะเข้าใจและผ่อนปรนเงื่อนไขให้กับผู้ผลิตรถยนต์เหล่านั้นได้”นาย?สุรพงษ์ กล่าวสรุป

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ที่ปรึกษาบริหารอาวุโส บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า โตโยต้าแนะนำ ยาริส อีโคคาร์ (เฟสแรก) เป็นค่ายสุดท้ายในปี 2556 ดังนั้นยังมีภารกิจที่ต้องทำให้ได้ตามเงื่อนไขของบีโอไอในส่วนของกำลังผลิต ซึ่งการเปิดตัว ยาริส เอทีฟ ตัวถังซีดาน และเงื่อนไขของบีโอไอที่เปิดโอกาสให้นำยอดผลิตของรถไฮบริดมารวมกับอีโคคาร์ได้ เราเชื่อว่าจะทำยอดผลิตได้ตามเป้าหมายที่บีโอไอกำหนดและจากนั้นจะเดินหน้าในโครงการอีโคคาร์เฟส 2 ต่อไป

ทั้งนี้โตโยต้าตั้งเป้าหมายจะขาย“ยาริส เอทีฟ” ได้ 4,700 คันต่อเดือน และส่งออกไปอีกกว่า 70 ประเทศอีก 3,000 คันต่อเดือน ขณะที่ “ยาริส แฮทช์แบ็ก” จะมียอดขายในประเทศประมาณ 2,500 คันต่อเดือน ส่วน?แพ็กเกจการลงทุนรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้าระบุว่าจะมีกำลังการผลิต 70,000 คันต่อปี โดยคาดว่าจะเปิดตัว “ซีเอช-อาร์ ไฮบริด” ต้นปีหน้า

ในส่วนยอดผลิตอีโคคาร์(ตามตารางประกอบ) จะเห็นว่าโตโยต้าที่เริ่มโครงการ “ยาริส แฮทช์แบ็ก” ในปี 2556 ปัจจุบันมียอดผลิตสะสมถึงเดือนมิถุนายนกว่า 1.55 แสนคันเท่านั้น ส่วนฮอนด้าตั้งแต่เปิดตัว?บริโอ้ และบริโอ้ อเมซ 5-6 ปีที่แล้ว ยังมีตัวเลขรวมไม่ถึง 1 แสนคัน

นั่นเป็นสถานการณ์ล่าสุดของโตโยต้า และ ฮอนด้า กับการวางแผนงานลุยรถยนต์ไฮบริด ซึ่งทั้ง 2 ค่ายยังมีโครงการอีโคคาร์เฟส 2 รออยู่ กับเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้นด้วยการกำหนดกำลังผลิตไว้ 1 แสนคันในปีที่ 4 ดังนั้นการลงทุนทำรถยนต์ไฮบริดที่ได้ประโยชน์ในแพ็กเกจใหม่ ยังเอากำลังผลิตไปช่วยปิดภารกิจในโครงการอีโคคาร์ เฟส 1 และ เฟส 2 ได้อีกด้วย น่าจะช่วยให้หายใจคล่องขึ้น

...เท่ากับการลงทุน ทำไฮบริดได้ประโยชน์อย่างน้อย 2 เด้ง ตามการผ่อนปรนของบีโอไอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560