บันเทิง‘ไทย-เทศ’บูมซีรีส์อินเดียมาแรง‘เซิร์ช’สบช่องซื้อสิทธิ์

22 ส.ค. 2560 | 23:10 น.
อุตสาหกรรมบันเทิงอู้ฟู่ ซีรีส์ ศิลปินไทย-เทศพาเหรดโกยเงินข้ามประเทศ หลังยักษ์เกาหลีก้าวสู่ช่วงขาลง พร้อมต่อยอดหนุนไทยฮับโปรดักชัน หลังกลุ่มทุนจีนทะลักถ่ายหนังในเวียดนาม กัมพูชา

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมบันเทิงในภูมิภาคเอเชีย กลายเป็นตลาดใหม่ของศิลปินไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะหลังจากที่อุตสาหกรรมเกาหลีซึ่งเป็นผู้บุกเบิกและก้าวขึ้นครองเรตติ้งอันดับ 1 ในหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย กลายเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นจังหวะในการแทรกตัวเข้าไป

โดยนางสาวชลลดา ทรงลำเจียก กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฮนด์ซั่ม (ประเทศไทย) จำกัด หรือ HANDSOME THAILAND ผู้บริหารและจัดหาศิลปินครบวงจร เปิดเผยว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในประเทศจีนประสบปัญหาถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ กอปรกับอุตสาหกรรมบันเทิงของฮ่องกงในจีนก็อยู่ในช่วงขาลงไม่เหมือนในอดีตที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ทำให้มองเห็นโอกาสทางการเติบโตของธุรกิจบันเทิงไทย ซึ่งปัจจุบันศิลปินไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับ 3 ในจีนรองลงมาจาก เกาหลีใต้,ไต้หวัน

ทั้งนี้ปัจจุบันธุรกิจบันเทิงของไทยมีโอกาสเข้าไปเติบโตและได้รับความนิยมแทนที่ศิลปินจากเกาหลีใต้ โดยพบว่าในจีนมีการผลิตซีรีส์เฉลี่ยปีละ 3,000 เรื่อง (เฉพาะที่ออกอากาศทางทีวี) และมีมูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตละครราว 1.7 หมื่นล้านหยวน ดังนั้นจึงมองเห็นโอกาสทางการเติบโตในตลาดระยะยาว

“อุตสาหกรรมบันเทิงที่จะได้รับความนิยมในจีนและแถบเอเชียต้องยอมรับว่ามีกระแสและได้รับความนิยมเป็นช่วงๆ ไล่เลียงมาตั้งแต่ยุคของหนังฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี จนปัจจุบันที่อุตสาหกรรมบันเทิงไทยกำลังเติบโตในระดับภูมิภาค จึงทำให้มองเห็นโอกาสของการเติบโตทางธุรกิจบันเทิงไทยในจีนที่ไม่ตํ่ากว่า 1- 60 ล้านบาทต่อศิลปิน 1 คน”

MP36-3289-A สำหรับรูปแบบการทำตลาดบริษัทจะให้ความสำคัญกับพัฒนาศิลปินไทย เพื่อไปรุกตลาดในจีนโดยมุ่งสร้างการเติบโตและมีชื่อเสียงในระยะยาวมากกว่าปัจจุบันที่ศิลปินไทยจะมีผลงานในต่างประเทศแบบครั้งคราว โดยบริษัทจะอาศัยจุดแข็ง คือ การมีพาร์ตเนอร์ที่หลากหลายในแต่ละมณฑล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตผลงานเพื่อให้โดนใจกลุ่มผู้ชมมากที่สุด รวมถึงการมีกลุ่มทุนทั้งไทยและจีนที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปีในการร่วมมือกันผลิตผลงานเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและความชื่นชอบของชาวจีน และการมีบริการที่ครบวงจรของบริษัททั้งงานโปรดักชัน ทีมงาน ที่จะสร้างศิลปินให้โด่งดังในระยะยาว

“ช่องทางการตลาดบันเทิงในจีนหลักๆที่บริษัทจะเข้าไปทำตลาดได้แก่ อินเตอร์เน็ตทีวี และเคเบิลทีวี เนื่องจากได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเป้าหมายหลักคือการต่อยอดธุรกิจบันเทิงไปยังระดับโกลบอล โดยมีจีนเป็นฐานหลักในการต่อยอดธุรกิจ”

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนรุกตลาดโปรดักชันที่มีเป้าหมายในการดึงกลุ่มผู้ผลิตหนังและละครจากจีนเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย เบื้องต้นมีทีมโปรดักชันจากจีน 2-3 รายการที่ต้องการเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยและอยู่ในขั้นตอนการเจรจา โดยมีแผนจะพัฒนาสู่รูปแบบ One Stop Service เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มโปรดักชัน ของจีนหันไปใช้โลเกชั่นของประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและเวียดนามแทนไทยเป็นจำนวนมาก จากขั้นตอนทางกฎหมายที่ง่ายและไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่าที่ไทย ซึ่งการถ่ายทำต่อเรื่องมีมูลค่าตั้งแต่ 20-300 ล้านบาท จึงมองว่าหากบริษัทสามารถเข้าไปรุกในตลาดโปรดักชันได้เป็นผลสำเร็จก็จะสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับที่ภาครัฐต้องการให้ไทยเป็น DREAM DESTINATION ในด้านการท่องเที่ยวจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน โดยบริษัทมีเป้าหมายหลักคือการขยายธุรกิจให้ครบวงจรมากที่สุดในการรุกอุตสาหกรรมบันเทิงจีนอย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ไว้ไม่ตํ่ากว่า 20% แบ่งเป็นการเติบโตที่มาจากส่วนงานพัฒนาศิลปินไทยไปจีน 60-70% ขณะที่อีกประมาณ 30% เป็นการเติบโตจากส่วนงานโปรดักชัน จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตอยู่เฉลี่ย 10% ต่อปี หรือสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนไม่ตํ่ากว่า 90-100 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมาที่บริษัทได้เข้าไปทำธุรกิจในจีน โดยมีศิลปินที่เข้าไปสร้างผลงานผ่านการพัฒนาของบริษัทแล้ว อาทิ บี้-เคพีเอ็น (ธรรศภาคย์ ซี),ไมค์-พิรัชต์ นิธิไพศาลกุล,สน-ยุกต์ ส่งไพศาล,วิว-วรรณรท สนธิไชย และอาร์ม-วีรยุทธ จันทร์สุข เป็นต้น และมีผลงานซีรีส์ที่ได้ส่งศิลปินไทยเข้าไปร่วมแสดงกับนักแสดงชาวจีนแล้วราว 10 เรื่องในช่วงที่ผ่านมา

[caption id="attachment_196712" align="aligncenter" width="335"] วิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานบริหารกลุ่มบริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด วิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานบริหารกลุ่มบริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด[/caption]

ด้านนายวิบูลย์ ลีรัตนขจร ประธานบริหารกลุ่มบริษัท เซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ซีรีส์อินเดียได้รับความนิยมและเติบโตเพิ่มขึ้นในประเทศไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กระแสซีรีส์ฮ่องกงและเกาหลีแผ่วลง ทำให้บริษัทเล็งเห็นการเติบโตจึงได้ใช้เม็ดเงินลงทุนเข้าซื้อคอนเทนต์จากบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) จำนวน 126 ล้านบาท เพื่อถือลิขสิทธิ์เป็นเวลา 3 ปี (ปี 2560-2562) ประกอบด้วย กลุ่มอินเดีย 5 เรื่อง อาทิ ซินแบด นักรบเจ้าสมุทร, ชานิ ปาฏิหาริย์เทพพระเสาร์, ปริศนาบัลลังก์โบจา และกรรณะ สุริยบุตร ,กล่มดิสคัฟเวอรี่ คิดส์ 150 ตอน และลักซ์ทูเดย์ (ออกอากาศแล้ว)

“ซีรีส์อินเดียไม่ใช่แค่เติบโตและได้รับความนิยมในไทยอย่างเดียวยังหมายรวมไปถึงกัมพูชา เมียนมา ลาว ที่หันมาดูเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่เราเข้ามารุกตลาดตรงนี้มองว่าตลาดประสบความสำเร็จไปแล้วระดับหนึ่งและบริษัทนำมาต่อยอดรองรับพฤติกรรมผู้ชม ซึ่งที่ผ่านมาทางช่อง 3 SD ได้มีการนำซีรีส์อินเดียชุดอโศกมหาราชเข้ามาฉายและได้รับความนิยมแล้วในช่วงที่ผ่านมาจึงมองว่าเป็นโอกาสอันดีในการเข้ารุกตลาด โดยเรื่องแรกที่จะออกฉายได้แก่ “นาคิน” ที่จะออกอากาศวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และจะทยอยออกอากาศให้ครบในช่วง 3 ปีที่มีการถือลิขสิทธิ์อยู่ เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของซีรีส์อินเดียกำลังมาแรงในบ้านเรา สังเกตได้จากหลายช่องเริ่มซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์อินเดียเข้ามาฉายและสามารถสร้างเรตติ้งความนิยมได้เป็นอย่างดี กอปรกับปีนี้เรื่องของพญานาคกำลังมาแรงในบ้านเรา สังเกตได้จากกระแสละครนาคีที่ดังมากทำให้สนใจซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ตัวนี้เข้ามาฉาย”

สำหรับการเข้ารุกธุรกิจซีรีส์อินเดียถือเป็นการช่วยเสริมพอร์ตทางการแข่งขันในกลุ่มทีวียุคปัจจุบันที่เริ่มมีผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวนมาก โดย “นาคิน” จะออกอากาศทางเทรดดิชันแนลมีเดีย ซึ่งถือเป็นสื่อดั้งเดิมที่หลายคนมองว่ากระแสอาจจะลดน้อยลง ซึ่งบริษัทถือว่าเป็นความท้าทายในการทำตลาดสื่อดั้งเดิมนอกจากการค้นหาความบันเทิงให้แก่ผู้ชมในทุกรูปแบบแล้ว ยังเป็นการทำให้ผู้ชมได้มีโอกาสและสนุกกับการชมซีรีส์ พร้อมกับต่อยอดไปยังส่วนของเม็ดเงินโฆษณาที่จะเข้ามาจากการที่เอเยนซีมีความมั่นใจในตัวบริษัท และผลงานอยู่แล้วมั่นใจว่าจะสามารถต่อยอดและสร้างการเติบโตได้เป็นอย่างดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560