พระพุทธเมตตาประชาไทยฯ ความสงบร่มเย็นแห่งทิศประจิม

19 ส.ค. 2560 | 23:10 น.
“... โครงการนี้ เกิดจากความริเริ่มของเจ้าพระคุณสมเด็จมหาธีราจารย์... ท่านได้ปรารภกับข้าพเจ้าเรื่อง ความตั้งใจที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญขึ้น วัตถุประสงค์คือ เพื่อเป็นศูนย์รวมความเคารพของพุทธศาสนิกชนอีกแห่งหนึ่ง และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน...

tp28-3289-1 รวมทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา กับเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้าที่จะมีอายุ 80 ในปีหน้า เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบ ข้าพเจ้าก็รับปากกับเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า ข้าพเจ้าจะขอร่วมทำบุญและจะพยายามสนับสนุนโครงการนี้ให้ดำเนินไปจนสำเร็จ...”

tp28-3289-2 พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลที่มาเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554

tp28-3289-5 เส้นทางทอดตรงยาวจากกรุงเทพมหานครสู่อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เวลาเดินทางราว 3 ชั่วโมงเศษ หากในเมืองหลวงเราอาจกำลังอยู่บนทางด่วนที่หาทางไปต่อไม่ได้ แต่สำหรับการเดินทางมาที่นี่ ทิวทัศน์ข้างทางต่างพากันเรียกร้องความสนใจจากข้างกระจก ใบไม้พลิ้วไหวไปตามแรงลม ดอกดาวเรือง ดอกดาวกระจาย ดอกโสน ดอกบานชื่น พากันชูช่ออวดสีสันท้าเปลวแดด ฝูงวัวหลายสิบตัวที่รออยู่บนแนวไหล่ทางเพื่อรอข้ามถนน กับรถแต่ละคันที่พร้อมใจกันหยุดคอยอย่างใจเย็นจนวัวตัวสุดท้ายข้ามฟากอย่างปลอดภัย

tp28-3289-4 พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ พระพุทธรูปปางขอฝนที่สูงที่สุดในประเทศไทยหลอมรวมศิลปะแบบคันธาระ ซึ่งเป็นรูปแบบประติมากรรมกรีกผสมอินเดีย และพุทธศิลป์ไทย มีพระพักตร์คล้ายเทพเจ้ากรีก จีวรห่มคลุมปรากฏเป็นริ้วผ้าตามธรรมชาติ ประดิษฐานอย่างสง่างามเบื้องหน้าภูเขาโค้งมนทรงสามเหลี่ยม ฉายพลังแห่งพระบารมีอย่างเด่นชัดตั้งแต่ทางเข้าวัดทิพย์สุคนธาราม วัดซึ่งสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ตั้งชื่อขึ้นเพื่อระลึกถึงนางฉันท์ทิพย์ กลิ่นโสภณ และครอบครัว ที่ได้บริจาคที่ดินจำนวน 319 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา แห่งนี้เพื่อสร้างวัดในพระบวรพระพุทธศาสนา และในห้วงเวลานั้นเองได้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับความรู้สึกของชาวพุทธทั้งแผ่นดิน เมื่อพระพุทธรูปศิลปะคันธาระที่สร้างขึ้นด้วยจิตศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนิกชนในหุบเขาบามิยัน ฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 หรือราวสองพันปีก่อนได้ถูกทำลายลงในปี 2544
ความเศร้าสลดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างพระพุทธรูปคันธารราฐปางขอฝนขนาดใหญ่ มีความสูง 32 เมตร เพื่อสื่อความหมายถึงอาคารแห่งกายครบ 32 ประการของมนุษย์ (มหาปุริสลักษณะ) บนที่ดินอันล้ำค่าผืนนี้ และนามของพระพุทธรูปซึ่งประกอบด้วยโลหะสัมฤทธิ์ วางโครงสร้างให้สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ถึง 9 ริกเตอร์ ยังมีความหมายที่สะท้อนศรัทธาอย่างแรงกล้าไว้ถึง 3 ประการด้วยกันคือ

tp28-3289-3 “พระพุทธเมตตาประชาไทยฯ” หมายถึง เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของชาวไทยและชาวโลก

tp28-3289-6 “ไตรโลกนาถ” หมายถึง เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของทั้ง 3 โลก อันได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก
“คันธารราฐอนุสรณ์” หมายถึง เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน

tp28-3289-7 นอกจากการออกแบบทางสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์โดยรอบที่เรียบง่ายแต่สัมผัสได้ถึงมนต์เสน่ห์ของความเป็นไทยในทุกรายละเอียด การจัดเก็บรวบรวมข้อมูลการก่อสร้างและการออกแบบพระพุทธรูป ซึ่งมีน้ำหนักหลายร้อยตัน ประดิษฐานบนแผ่นดินซึ่งปรากฏลอยเลื่อนสำคัญถึง 2 รอยเลื่อนด้วยกันคือ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ได้ถูกคัดสรรและผลิตเป็นองค์ความรู้ผ่านสื่อที่เข้าใจง่าย ในอาคารนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้ การจัดแสดง ที่จัดแบ่งสัดส่วนพื้นที่ลงไปใต้ดิน ทำให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสกับโครงสร้างภายในองค์พระ เรื่องราวการเผยแพร่ พระพุทธศาสนาผ่านการนำเสนอที่ทันสมัย ทำให้เราเต็มอิ่มกับเรื่องราวและซึมซับบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยแรงศรัทธา ณ ที่สถานที่ซึ่งไม่มีใครเคยคิดว่าจะรังสรรค์จนเกิดความงดงามได้เช่นนี้

tp28-3289-8 พอตะวันเริ่มคล้อยไปทางทิศตะวันตกเปลี่ยนเป็นสีส้มแก่ การได้เดินชมสวนป่าพุทธอุทยานซึ่งออกแบบตามแนวคิด “การนอบน้อมต่อธรรมชาติ” คือมีความกลมกลืนและใกล้ชิดกับธรรมชาติโดยรอบ ได้นั่งฟังธรรมร่วมกับเยาวชนที่เข้ามาเรียนพระพุทธศาสนาและเดินสูดลมหายใจให้เต็มปอด ณ จุดหนึ่งของโลกใบนี้ที่แม่ฟ้าของแผ่นดินหลอมรวมความศรัทธาสร้างขึ้นเพื่อชาวไทยทุกคน คือความสุขที่ไม่อยากให้เลยผ่านไปสักวินาทีเดียว

*หมายเหตุ: อาคารนิทรรศการอนุสรณ์แห่งการตื่นรู้จัดให้มีการบริการนำชมโดยวิทยากรวันละ 7 รอบ รอบละ 50 ท่าน ตั้งแต่เวลา 10.00 น. - 15.00 น. ระยะเวลาการชมนิทรรศการประมาณ 30 - 45 นาที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนิตยา ทวีแก้ว โทร. 098-964-0908

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560