‘ The Art of Sound Creation’ เวิร์กช็อปการสร้างเสียงและดนตรีเพื่องานโฆษณาระดับโลก ครั้งแรกในประเทศไทย

19 ส.ค. 2560 | 23:06 น.
การเล็งเห็นความสำคัญของ “เสียง” ในฐานะองค์ประกอบสำคัญของการสร้าง “สาร” ก่อเกิดเป็นภาพและความเข้าใจจนนำไปสู่ “การจดจำ” ในลักษณะต่างๆ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ หัวหน้าหลักสูตรสื่อและการสื่อสาร (Media and Communication) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล “The Art of Sound Creation” เวิร์กช็อประดับมาสเตอร์คลาส ครั้งแรกของเมืองไทย จึงเริ่มต้นขึ้น

“การที่นักศึกษาเห็นความสำคัญของการสร้างเสียงและดนตรีเพื่องานลักษณะต่างๆ ทั้งโฆษณา หนัง และทีวี จากวิชา Event Management เด็กต้องรู้จักสร้างเนื้อหาของอีเวนต์ได้ด้วยตนเอง รวมถึงสิ่งที่กำลังเป็นที่ต้องการมากที่สุดในวงการโฆษณาตอนนี้ คืองานดนตรีและการประพันธ์ดนตรีและออกแบบเสียงเพื่องานโฆษณา”

tp27-3289-6 การผนึกความร่วมมือกับบริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง ประเทศไทย และกูรูมือ 1 ของการประพันธ์ดนตรีระดับโลกอย่าง Kevan Frost ผู้เชี่ยวชาญการใช้ดนตรีเพื่อขับเคลื่อนและสื่อเนื้อหาให้ผู้คนรู้สึกจับต้องได้ มีผลงานระดับอินเตอร์ประพันธ์เพลงให้กับ BBC เป็นนักแต่งเพลงและ Producer ให้กับศิลปินระดับสากลหลายคน อาทิ Boy George Gloria Gaynor หรือแม้กระทั่ง Mark Ronson ซึ่งล่าสุดเพิ่งทำเพลงร่วมกับ Bruno Mars ทำให้นักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรงอย่างเต็มอิ่ม เปิดมุมมองการแข่งขันของตลาดโฆษณาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการปรับกลยุทธ์ด้านการใช้เสียงไปใช้กับผลิตภัณฑ์และองค์กรได้อย่างตรงจุด

คุณยุทธพงศ์ วรานุเคราะห์โชค ผู้เชี่ยวชาญด้านโฆษณา จาก บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอ็ดเวอร์ไทซิ่ง ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “เสียงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาพและตัวอักษรเลย เสียงสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าตราสินค้าได้ ทำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ เพราะประสาทสัมผัส “รับฟัง” มีส่วนช่วยให้เกิดการซึมซับได้มากกว่า ซึ่งกลยุทธ์การสร้างเสียงเพลงให้เหมาะกับตราสินค้า บางครั้งเสียงสามารถ เชิญชวนและสร้างอารมณ์ได้มากกว่าภาพ และเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการสร้างแบรนด์ระดับโลก แต่ศาสตร์การใช้เสียงเช่นนี้ บุคลากรไทยยังมีความรู้และความเชี่ยวชาญน้อย”
นอกจากนั้นภายในงานได้เชิญคุณรพีเดช กุลบุศย์ และ Jake Craig จาก Studio 28 ซึ่งเป็น Recording Studio ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย และมีทีมผลิตงานเพลง (produce) ที่ชนะการแข่งขันเสนองานจนได้โอกาสสร้างสรรค์ระดับโลกมาแล้วมากมาย ทั้งสองคนจะมาร่วมให้ความรู้และตอบข้อซักถามจากผู้ร่วมงานในเวิร์กช็อปนี้

tp27-3289-7 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณ์ขวัญ พลจันทร์ กล่าวปิดท้ายว่า “ประโยชน์จากการจัดงาน ครั้งนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษา ที่มีโอกาสเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง ช่วยให้เด็กมีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด และค้นพบว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำสิ่งใดได้หรือไม่ได้ ซึ่งแนวทางนี้ยังไม่มีในวิชาแนะแนวของไทย ที่จะให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง จะได้ค้นพบด้วยตัวเองถึงความชอบ ความถนัด และความสามารถของตนเอง รู้จักคุณค่าของตนเองจากการได้มีโอกาสลงมือทำงานจริง จึงได้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา ส่วนประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมงาน คือ ได้มาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงว่า ไม่ใช่เรื่องยากที่นักดนตรีและนักออกแบบเสียงจะได้รับชัยชนะในการแข่งขันเสนอขายงาน เพียงแต่ต้องเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า และต้องมีกลวิธีที่สร้างสำนึกในสื่ออื่นๆ มากกว่าเสียงดนตรี แล้วก็ต้องหาวิธีทำงานร่วมกับเนื้อหาอื่นที่ไม่ใช่เสียงเพลงให้ได้ เราเชื่อว่าเวิร์กช็อป “The Art of Sound Creation” จะช่วยเปิดโลกทัศน์ ให้เห็นถึงแนวทางและวิธีการเพื่อผสมผสานงานประพันธ์ดนตรี และการสร้างเสียงให้เข้ากับงานโฆษณาได้อย่างลงตัว”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560