นิวเจนแอร์ฯรับ AOC ใหม่ กบร.ไฟเขียว 4 มาตรการชดเชยแอร์ไลน์หยุดบินตปท.

23 ส.ค. 2560 | 11:53 น.
นิวเจน แอร์เวย์ส ขึ้นแท่นสายการบินที่ 9 ของไทยที่จะรับมอบ AOC ใหม่จากกพท. พร้อมกางแผนขยายเน็ตเวิร์กเช่าเหมาลำต่อเนื่อง ด้านไทยเวียดเจ็ท ให้บริษัทแม่บินรูตอินเตอร์ทดแทน ทั้งขอเปิดจุดบินใหม่ในประเทศ ขณะที่กบร.ไฟเขียว 4 มาตรการชดเชยให้สายการบินที่ต้องหยุดทำการบินต่างประเทศวันที่ 1 กันยายนนี้

นายประมุข ไชยวรรณ ประธานกรรมการบริหารบริษัทสบายดี แอร์เวย์ส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเช่าเหมาลำ ในนาม สายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สายการบินนิวเจน แอร์เวย์ส เตรียมจะรับมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Re-certification) จากสำนักงานการบินพล เรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นไปตามการสร้างมาตรฐานการบินใหม่ ตามแผนที่จะทำให้ไทยปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

การที่สายการบินได้รับเอโอซีใหม่ จึงแสดงถึงมาตรฐานการให้บริการของสายการบินซึ่งนับจากนี้ นิวเจน แอร์เวย์ส ยังคงมีแผนในการขยายเส้นทางบินอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 2 ลำ ส่งผลภายในปีนี้สายการบินจะมีเครื่องบินรวมทั้งหมด 12 ลำ และปีหน้าจะ เพิ่มเครื่องบินเข้ามาอีก 4-6 ลำ เพื่อรองรับการขยายจุดบินใหม่ที่จะเกิดขึ้น

tp22-3289-1 โดยแผนในปีนี้นอกจากปัจจุบันที่ทำการบินแบบเช่าเหมาลำแบบมีตารางบินที่แน่นอนสู่ 28 เมืองสู่จีนแล้ว ยังมีแผนเปิดเส้นทางบิน เช่าเหมาลำไปยังเมืองมะริด ประเทศเมียนมา ในเร็วๆ นี้ ส่วนในช่วงต้นปีหน้าจะเปิดเช่าเหมาลำไปยังตะวันออก กลาง โดยมองไว้ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมถึงเมืองบาตัน ประเทศอินโดนีเซีย และเปิดบินสู่เมืองไทเป ไต้หวัน และกำลังหารือถึงการขยายเน็ตเวิร์กไปยังอินเดียด้วย

“ปีนี้เราคาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ จะมีผู้โดยสารอยู่ที่ราว 1.5- 2 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเริ่มฟื้นตัว หลังจากในช่วงไตรมาส 4 ในปีที่ผ่านมา ที่มีการชะลอตัวไปจากมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญของรัฐบาล” นายประมุข กล่าวทิ้งท้าย

นายเลือง เชือง อาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการพาณิชย์ สายการบินไทยเวียดเจ็ท เผยว่า สายการบินอยู่ในขั้นตอน 4.1 ในกระบวนการออก AOC ใหม่ คาดว่าจะไม่ทันสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ แต่แล้วเสร็จราวเดือนตุลาคมปีนี้ บริษัทเตรียมแผนที่จะรับมือหากต้องหยุดทำการบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ โดยให้ทางเวียดเจ็ต แอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ในเวียดนาม เข้ามาให้บริการลูกค้าในเส้นทางบินระหว่างประเทศแทนก่อน จนกว่าไทยเวียดเจ็ต จะได้รับ AOC ใหม่ ซึ่งปัจจุบันเรามีเที่ยวบินประจำ 1 เส้นทาง ได้แก่กรุงเทพฯ(สุวรรณภูมิ)-ไฮฟอง ส่วนที่เหลือเป็นการให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำไปยังไต้หวัน เวียดนาม รวมทั้งสายการบินยังอยู่ระหว่างขอเปิดบินเส้นทางบินใหม่สู่เมืองท่องเที่ยวหลักในไทย อาทิ กระบี่ หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี อุดรธานี เป็นต้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ว่า คาดว่า ICAO จะเข้ามาตรวจสอบ ICVM (ICAO Coordinated Validation Mission) เพื่อแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนของประเทศไทย ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน 2560 ซึ่งในปัจจุบันมีสายการบิน จำนวน 9 สายการบิน ผ่านการตรวจสอบ และได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ ตามมาตรฐาน ICAO ที่ กพท. ได้ดำเนินการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองฯ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก CAA International Limited (CAAi) คาดว่าจะมีผู้ดำเนินการเดินอากาศได้รับใบรับรองฯ เพิ่มเติม ได้แก่ บริษัท สบายดีแอร์เวย์ส จำกัด และบริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด

นอกจากนี้ มีสายการบินที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบในขั้นตอนที่ 4.1 ภาคปฏิบัติการบิน ดังนี้ บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด บริษัท เจ็ท เอเชีย จำกัด บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด บริษัท สยามแลนด์ฟลายอิ้ง จำกัด บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ จำกัด บริษัท วีไอพี เจ็ท จำกัด บริษัท เอชเอส เอวิเอชั่น จำกัด บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด และบริษัท สกายวิว แอร์เวย์ จำกัด

อย่างไรก็ตามหากสายการบินใดยังไม่ได้ AOC ใหม่ ภายในวันที่ 1 กันยายน 2560 และต้องหยุดทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศ ทางคณะกรรมการก็ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาสายการบินที่ได้รับผลกระทบ ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.สายการบินที่จะต้องหยุดทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศ สามารถทำการบินเส้นทางภายในประเทศได้วันละ 1 เที่ยวบินต่อเส้นทาง ทั้งนี้กรณีขอเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางสายย่อย เมื่อรวมกับจำนวนผู้ดำเนินการเดินอากาศที่มีอยู่ก่อนแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวน 3 ราย

2.สายการบินสามารถจำหน่ายบัตรโดยสารได้ลักษณะเดียวกับสายการบินทั่วไปได้ทุกช่องทางการจำหน่าย อาทิ เคาน์ เตอร์บริการ ตัวแทนจำหน่าย เว็บไซต์ เป็นต้น 3.กพท. จะประสานงานกับกรมท่าอากาศ ยาน (ทย.) เพื่อขอให้ลดอัตราค่าจอดเครื่องบิน กรณีที่สายการบินไม่สามารถทำการบินเส้นทางระหว่างประเทศได้ โดยสามารถนำเครื่องบินไปจอด ณ ท่าอากาศ ยานภูมิภาคสังกัด ทย. ในอัตราพิเศษ แทนการจอด ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง และ 4.สายการบินสามารถยื่นความจำนงขอรับการเยียวยาได้ที่ กพท. และสามารถดำเนินการได้ถึงวันที่ 31 มกราคม 2561 อย่างไรก็ตาม หากสายการบินใดผ่านการตรวจสอบและได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ จะสามารถทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศได้ตามปกติ

นอกจากนี้ทางคณะกรรม การยังเห็นชอบตามที่ กพท. ได้ดำเนินการจัดทำมาตรการที่ชัดเจนเพื่อแจ้งให้ผู้ปกครอง และผู้ขอรับใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินศิษย์การบินหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีทราบว่า คุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบินพาณิชย์ตรี หลังจากสำเร็จหลักสูตรดังกล่าวแล้วจะต้องมีใบสำคัญแพทย์ชั้นหนึ่ง (Class 1 Medical Assessment) เท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560