7เดือนเงินเข้ากองหุ้น1.5หมื่นล. ก.ค.เดือนเดียวสุทธิ4พันล้าน–บลจ.กอดเงินสดรอช็อปหุ้น

22 ส.ค. 2560 | 13:23 น.
“มอร์นิ่งสตาร์” เผยปีนี้เงินไหลเข้าสุทธิกองทุนหุ้นไทย 1.49 หมื่นล้านบาท “บลจ.บัวหลวงฯ-เอ็มเอฟซี” ถือเงินสดในมือเพิ่ม รับหาหุ้นลงทุนยาก รอจังหวะตลาดย่อพร้อมเก็บ ผิดหวังกำไรบจ.ไตรมาส 2 ไม่สดใส

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2560 มีเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุนหุ้นไทยมูลค่า 14,899 ล้านบาท เฉพาะเดือนกรกฎาคมมีเงินไหลเข้าสุทธิ 4,035 ล้านบาท ส่วนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) มีเงินไหลออกสุทธิ 15,390 ล้านบาท เฉพาะเดือนกรกฎาคมไหลออกสุทธิ 190 ล้านบาท

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยช่วง 7 เดือนแรก ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 33.14 จุด หรือ 2.14% จากสิ้นปี 2559 และ ณ 16 สิงหาคม 2560 เพิ่มขึ้น 1.59% จากสิ้นปีก่อน

ด้านนายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงปัจจุบัน มีเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุนหุ้นในประเทศของบริษัท 6,567 ล้านบาท โดยเข้าลงทุนสูงสุดในกองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 จำนวน 2,133 ล้านบาท กองทุนเปิดบัวหลวงบัวแก้ว 1,783 ล้านบาทกองทุนเปิดบัวหลวงบัวแก้วปันผล 1,264 ล้านบาท

“เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุน ต้องยอมรับว่ากองทุนหุ้นยังไม่ได้เข้าซื้อหุ้นและปัจจุบันถือเงินสดเฉลี่ย13-14% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงสุด จากต้นปีถือ 8-10% และภาวะปกติจะถือ 5-6% เพื่อสำรองสภาพคล่องกรณีผู้ถือหน่วยลงทุนขายออกจะได้เงินคืนใน1วันถัดไป (T+1)”นายพีรพงศ์ กล่าว

สาเหตุที่ยังไม่เข้าลงทุน เนื่องจากปัจจุบันหาหุ้นเข้าลงทุนยาก ตลาดแกว่งตัวแคบๆ ราคาไม่ได้ย่อตัวลงอย่างคาด นับตั้งแต่ความกังวลนโยบายของสหรัฐฯเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่ง จะทำให้เงินไหลกลับสหรัฐฯ แต่สุดท้ายก็ไม่เกิด เงินโยกกลับเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยเฉพาะอินเดีย แต่ไม่เข้าตลาดหุ้นไทย ซึ่งมองว่า ปีที่ผ่านมาหุ้นไทยให้ผลตอบแทนรวมเงินปันผลประมาณ 20% นำตลาดหุ้นเพื่อนบ้านไปแล้ว ปีนี้ดัชนีจึงแกว่งแคบๆ ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ในระดับตํ่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่จูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามา

MP19-3289-A นอกจากนี้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 ออกมาไม่ค่อยดี สะท้อนการบริโภคภายในประเทศไม่ได้เติบโตเท่าที่ควร ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนไม่เกิด กำลังการผลิตยังเต็ม จึงต้องจับตาช่วงที่เหลือของปีนี้ เม็ดเงินลงทุนภาครัฐจะเข้าสู่ระบบอย่างที่คาดการณ์หรือไม่ ส่วนการเลือกตั้งหากประกาศออกมาตามกำหนดจะเป็นอีกปัจจัยผลักดันตลาดหุ้นไทยได้ ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2561 คาดเติบโต 8-10%

“หากตลาดปรับตัวลงมา กองทุนก็พร้อมเข้าซื้อหุ้น โดยมองกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนภาครัฐ การบริโภค โรงพยาบาล ท่องเที่ยวยังน่าสนใจ ส่วนกลุ่มแบงก์ยังถูกกดดันจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)” นายพีรพงศ์ กล่าว
นายชาคริตพืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายตราสารทุนบลจ.เอ็มเอฟซีฯ กล่าวว่า บริษัทปรับลดเป้าหมายการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2560 ลงเล็กน้อยเหลือ 8-9% จากเดิมมองไว้10%หลังผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมากลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น รวมทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ซึ่งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ยังไม่นิ่ง คาดว่าจะเริ่มดีขึ้นไตรมาส 4 ปีนี้

“ในภาวะหุ้นแกว่งตัวแคบๆ กองทุนสลับตัวขายหุ้นแพงและเลือกหุ้นราคาถูก ซึ่งปัจจุบันกองทุนหุ้นถือเงินสดประมาณ 10% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ จากเดิมจะถือประมาณ 6-7% เนื่องจากหุ้นเป้าหมายราคาปรับตัวขึ้นไปแล้วต้องรอย่อตัวก่อนเข้าซื้อ” นายชาคริต กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560