‘นิพนธ์’ ชำแหละ ‘จำนำข้าว’ (จบ) คนไทยแบกหนี้คนละ15,000บาท

20 ส.ค. 2560 | 04:34 น.
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในนักวิชาการที่ส่งเสียงสะท้อนให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบ ถึงปัญหาโครงการรับจำนำข้าว ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ บากบั่น บุญเลิศ บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในรายการ “ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ สปริงนิวส์ ดิจิทัลทีวี ช่อง 19

• สังคมไทยได้อะไรจากบทเรียนนี้บ้าง ทั้งในแง่มิติทางการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และเกษตรกรชาวนา
ในแง่ของประชาชน คือ เวลาที่เราจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เราก็จะคิดให้ดีว่าประชาชนอยากจะได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล แต่ในฐานะที่เราเป็นประชาชนเราก็ต้องถามว่า แล้วนโยบายนี้รัฐบาลเอาเงินมาจากไหน ก็เอามาจากภาษีของประชาชน ซึ่งจริงๆ แล้วอันนี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์สุทธิต่อสังคมหรือไม่ หรือนโยบายนี้จะไปบวกจะไปลบอย่างไร เราต้องคิดมากขึ้นในแง่ของประชาชน ซึ่งผมก็ไม่เชื่อว่าเราไปออกกฎหมายห้ามนโยบายประชานิยมจะได้ผล
เมื่อมองในแง่ของนโยบายทางการเมือง ซึ่งมีสิทธิที่จะเสนอนโยบายประชานิยม จะเสนอสุดโต่งอย่างไรผมไม่ว่า แต่เมื่อได้มาแล้ว นอกจากแถลงในรัฐสภาว่าจะดำเนินตามที่หาเสียงมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำตามอีกระดับหนึ่งก็คือ จะเอามาจากไหน หาเงินมาจากไหน แล้วถ้าขาดทุน จะเอาที่ไหนมาชดเชย จะเก็บภาษีที่ไหน แล้วจะต้องเสนองบประมาณแผ่นดินเป็นงบพิเศษก็ได้ให้รัฐสภาอนุมัติ แต่ที่ผ่านมาโครงการนี้ใช้วิธีการกู้จาก ธ.ก.ส. ส่วนหนึ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นเงินนอกงบประมาณไม่ขออนุมัติรัฐสภา

เพราะฉะนั้น เท่ากับเป็น Blank Check คือไปเติมตัวเลขเอาเลยว่า โครงการนี้จะใช้งบประมาณเท่าไรก็ได้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่า ก็ตั้งเพดานกู้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขนี้เป็น Blank Check ตั้งแต่ต้น เพราะรัฐบาลไปเติมตัวเลขนี้เอง ดังนั้น ต้องขออนุมัติรัฐสภาตั้งแต่ต้น จะทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณโปร่งใสและมีวินัยทางการคลัง

TP14-3289-Ab มีการพูดกันระยะหลังๆ ว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ห้ามมีนโยบายประชานิยมไปเลย ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่า เขาจะเสนออะไรก็ได้ แต่เมื่ออยู่ในชั้นของรัฐสภา ส.ส.ก็จะเห็นว่าโครงการใดจำเป็น ไม่จำเป็น เขาก็จะตัดออกไป นี่จะ เป็นการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิ- ภาพและประสิทธิผล และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไปออกกฎหมายห้ามไม่ได้ผล ส่วนวิธีการ ที่จะได้ผลสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่คือต้อง ฝึกประชาชนให้รับผิดรับชอบเรื่องนี้ ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนติด ตามเฝ้าระวังไม่ให้นักการเมืองถลุงเงิน

• ความรับผิดรับชอบในแง่ของผู้กำหนดนโยบายของฝ่ายการ เมืองกับการดำเนินนโยบายนั้น ควรจะเป็นอย่างไร
ผมขออ้างอิงกรณีเปรียบเทียบกับบริษัทก็แล้วกัน รัฐบาลออกกฎหมายบังคับให้บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯต้องมีบรรษัทภิบาลที่ดี ต้องการการจัดการบริษัทที่ดี ซึ่งก็คือ ผู้บริหารระดับสูงต้องรับผิดชอบกับการบริหารจัดการภายในบริษัท รับผิดชอบกับพนักงาน รับผิดชอบไม่ทุจริต รับผิดชอบกับผู้บริโภค รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนี่เป็นนโยบายที่รัฐบาลบังคับ เมื่อรัฐบาลไปบังคับให้คนอื่น ซึ่งตัวเองเป็นคนออกกฎหมาย ตัวเองเป็นรัฐบาลก็จะต้องยึดหลักเดียว กัน มิเช่นนั้นแล้วจะไปบังคับให้คนอื่นทำตามกฎหมายได้อย่างไร เมื่อตัวเองไม่ทำตามกฎหมาย

• แต่ปัจจุบันรัฐบาลไม่มีกฎหมายลักษณะนี้อยู่
มีครับ นั่นก็คือ พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ม.11 คือ รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้มีธรรมาภิบาล นี่เป็นหลักสำคัญของรัฐบาล สมัยก่อนที่เรามีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ก็จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นหลักการสำคัญของการปกครองประเทศ เมื่อเป็นหลักเช่นนี้ เราทำนโยบายแล้วเราจะบอกว่า เมื่อเราทำนโยบายแล้ว เราออกระเบียบแล้ว แล้วปล่อยให้ปฏิบัติไป แล้วถ้าลูก น้องปฏิบัติไม่ดี ฉันก็ไม่ต้องรับผิดชอบ อันนี้ผมคิดว่าไม่ได้

เพราะเราก็ต้องตามตรวจสอบลูกน้อง ซึ่งตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี โอเคระดับเจ้าหน้าที่ ระดับท้องถิ่นเราอาจจะมองไม่เห็น แต่อย่างน้อยระดับรัฐมนตรี ระดับปลัดกระทรวง ระดับอธิบดี เพราะคนเหล่านี้รัฐบาลเป็นคนแต่งตั้ง มีอำนาจในการแต่งตั้ง หรือคณะกรรมการต่างๆ ที่รัฐมนตรีเข้าไปนั่ง อธิบดีเข้าไปนั่ง แล้วต้องรายงาน ตรงนี้คือ สิ่งที่รัฐบาลต้องตามตรวจสอบ ไม่ใช่บอกว่า มีกฎ ระเบียบให้ทำตามแล้ว เพราะฉะนั้น พ้นตัวแล้ว ถ้าเขาไปทำผิด แล้วฉันไม่รับผิดชอบ ไม่เกี่ยว แบบนี้ผมคิดว่า พูดไม่ได้

ในเมื่อตัวเองเป็นคนกำหนด นโยบาย แล้วเดินไป เมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว ต้องไปดูการปฏิบัตินั้น ปฏิบัติตามนโยบายไหม มีการทุจริตไหม แล้วเมื่อมีคนเตือนก็ต้องดำเนินการจริงๆ จังๆ แล้วนำไปปรับปรุง ซึ่งก็มี 2 กรณี กรณีที่ 1 ที่มีการเตือนว่า มีข้าวหาย 3 ล้านตัน แล้วรัฐบาลก็ทำแบบผักชีโรยหน้า ก็คือ ไปตรวจข้าววันเดียวทั่วประเทศไทย หรือมีการเตือนว่า เงินจะไม่พอแล้ว 4 แสนล้านบาท ตั้งแต่กลางปี 2556 แล้วก็มีผู้บริหารระดับธนาคารมาแจ้งนายกฯแล้ว ก็ทราบแล้วว่า จะไม่มีเงินในฤดูต่อไป แต่ว่าในที่สุดเมื่อไปคุยกันในหมู่นักการเมืองก็ไม่แก้ปัญหาเรื่องนี้ จนกระทั่งครั้งสุดท้ายที่จำนำปี 2556-2557 มีเกษตรกรจำนวนกว่าล้านคนไม่ได้รับเงิน 125,000 ล้านบาท เกษตรกรเหล่านี้ลงทุนปลูกข้าวไปแล้ว เอาข้าวไปส่งรัฐบาลแล้วไม่ได้รับเงิน หลายคนรอ 6-7 เดือน กระทั่งรัฐบาลประยุทธ์ขึ้นมา แล้วจึงนำเงินไปชดใช้เกษตรกรเหล่านี้ นี่คือสิ่งที่ให้อภัยไม่ได้

• รัฐบาลจะอ้างได้หรือไม่ว่า ความรับผิดรับชอบ คือการนำไปสู่การยุบสภาแล้ว
ไม่ได้ ไม่เพียงพอ ก็เพราะตัวเองรู้ตั้งแต่ต้น ทำไมไม่แก้ปัญหา นี้ตั้งแต่ต้น ในเมื่อคุณบอกว่าคุณให้ประโยชน์แก่เกษตรกร ผมไม่เถียงเลย และผมก็บอกว่า จริงด้วย แต่ว่าตรงนี้คุณก็ต้องรับผิดชอบด้วย ทั้งๆ ที่คุณรู้ตั้งแต่ต้น

• รัฐบาลบอกได้ไหมว่าก็กำหนดเพดานไว้ตั้งแต่ต้นไม่เกิน 3 แสนล้านบาท
แต่มันเกินไปแล้ว แต่ตอนนั้นรู้แล้วว่า ให้หาทางแก้แต่รัฐบาลไม่แก้ รัฐบาลก็ใช้วิธีการแก้ คือ การเร่งขายข้าวออกไปเท่านั้นเอง ซึ่งเราก็รู้ว่าในทางปฏิบัติไม่ได้ง่ายอย่างนั้น มันจะต้องมีทางหนีทีไล่ ถ้าแก้ปัญหาได้ก็จะไม่เกิดปัญหาเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้เงิน ตอนฤดูสุดท้าย นี่คือข้อบกพร่องที่สำคัญ แล้วต้องรับผิดชอบ

• เป็นไปได้หรือไม่ว่า บ้านเราควรจะออกกฎหมายเพื่อจะเอาผิดกับฝ่ายบริหารที่กำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาดังที่กล่าวมา
ไม่จำเป็น กฎหมายบ้านเมืองมีอยู่แล้ว

• แต่เราจะทำอย่างไรให้ฝ่ายบริหารบ้านเมืองมีสำนึกเหล่านี้
ตัวฝ่ายการเมืองจะมีสำนึกหรือไม่มีสำนึกนั้น เป็นเรื่องของเขา แต่เป็นเรื่องที่ประชาชน เวลาเราเลือกนักการเมือง เราก็จะต้องเลือกคนไหนเป็นคนดี คนไหนเป็นคนไม่ดี นี่เป็นหน้าที่ของเรา ดังนั้น ระบบถ้าจะให้ประชาชนมีข้อมูลที่ดี ก็คือการเปิดเผยทรัพย์สิน การเปิดเผยประวัติการทำงาน การเปิดเผยผลการทำงาน ต่อภาคประชาชน ซึ่งประชาชนก็จะมีข้อมูลของนักการเมือง ว่าคนนั้นเป็นอย่างไร คนนี้เป็นอย่างไร จะเลือกหรือไม่ หรือเวลามาหาเสียงโกหกเราหรือไม่ ใช้คำหวานเฉยๆแล้วข้อเท็จจริงทำอีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่า ระบบประชาธิปไตยต้องเป็นแบบนี้ วิธีการก็คือให้ประชาชนเป็นคนที่ไปลงคะแนนเสียงแล้วฉลาด และเป็นผู้ตัดสินเอง

• มีการพูดคุยกันเรื่องมรดกที่ตกทอดจากความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ไม่ทราบว่าอาจารย์เคยจำแนกผลประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับ เคยจำแนกเรื่องพ่อค้าที่จะได้รับเคยจำแนกเรื่องของกระบวนการ โกดัง เซอร์เวเยอร์ ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมจะได้รับ และเคยจำแนกให้เห็นว่ากลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล พ่อค้าที่ใกล้ชิด ได้รับและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชัน?

ทั้งหมดตอนนี้ถ้าเรานับตัวเลขเมื่อสิ้นกันยายนปีที่แล้ว มันอยู่ที่ 607,000 ล้านบาท เมื่อขายข้าวหมดก็คงจะเพิ่มขึ้นมาอีกสักประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท หรืออย่างมากที่สุดไม่เกิน 650,000 ล้านบาทก็โดยเฉลี่ยแล้ว เมื่อหารประชากร 60 ล้านคน ง่ายๆ ก็ตกคนละ 15,000 บาทต่อคน หมายความว่า เกิดมาก็มีหนี้ทันที 15,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่เมื่อมันเป็นภาระใหญ่ ซึ่งจะต้องชดเชย จะต้องตั้งงบประมาณการคลังไปชดเชย ในงบประมาณประจำปี ก็จะไปเบียดงบประมาณ ที่จะให้ในการพัฒนาประเทศ ตรงนี้คือเรื่องใหญ่ แล้วถ้าเราไปยืดอายุระยะเวลาสัก 50 ปี ก็ดอกเบี้ยทบต้น ชนักก็ติดหลังเราไปเรื่อยๆ เราก็ดิ้นไม่หลุดกันสักที สมัยก่อนเรามีหนี้ภาครัฐน้อยมาก เดี๋ยวนี้นับวันหนี้ภาครัฐมีแต่จะเพิ่มพูนมากขึ้น

• แต่เขาอ้างว่า ยังไม่ถึงเพดาน
คร้าบบบบ...ยังไม่ถึงเพดาน แต่สมัยก่อนเกิดวิกฤติ หนี้ภาครัฐอยู่ที่ประมาณ 10-20 % เท่านั้นเอง เดี๋ยวนี้มาถึง 40% แล้ว สมัยก่อนน้อยมาก ที่สำคัญอย่าไปมองว่า ยังไม่ถึงเพดาน แต่ต้องมองว่าเราไม่ได้เป็นประเทศที่รํ่ารวย เงินทุกบาททุกสตางค์ เราจะต้องนำมาใช้พัฒนาประเทศเพื่อยกฐานะของคนไทยให้สูงขึ้น ซึ่งถ้าเราไปก่อหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่เราจะใช้เงินในการพัฒนา ในการที่จะทำให้รายได้ของคนไทยในอนาคตเพิ่มขึ้นมันลดลงทุกที

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยโตปีละประมาณ 3% เท่านั้น ไม่ถึง 4% ซึ่งก็เก่งแล้ว สมัยก่อนเราโตเท่าไร 6.5-7-8% บางปีเราโต 9-10% รายได้ของประชาชนหายไปเยอะมาก แล้วตอนนี้เราไม่มีเงินที่จะไปพัฒนาประเทศ เราต้องเอาเงินมาใช้หนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560