เปิดเจรจาแก้ไขนาฟต้า มะกันย้ำต้องยกเครื่อง

23 ส.ค. 2560 | 08:14 น.
สหรัฐฯ แคนาดา เม็กซิโก เปิดฉากเจรจาแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรีนาฟต้า แต่ท่าทีที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ ทำให้การเจรจามีโอกาสเป็นไปด้วยความยากลำบาก

บรรยากาศการเริ่มต้นการเจรจาแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐ อเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก แสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่ทั้ง 3 ประเทศจะต้องเผชิญในการเร่งบรรลุข้อตกลง ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้เกิดขึ้นก่อน การเลือกตั้งในเม็กซิโกในปีหน้า

นายโรเบิร์ต ไลธิเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวกับตัวแทนเจรจาของอีก 2 ประเทศว่า ข้อตกลงนาฟต้าถือเป็นความล้มเหลวสำหรับชาวอเมริกันจำนวนมาก “เราไม่สามารถเพิกเฉยต่อการขาดดุลการค้ามูลค่ามหาศาล การสูญเสียงานในภาคการผลิตจำนวนมาก ธุรกิจที่ต้องปิดตัวหรือย้ายฐานเพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงปัจจุบัน”

NAFTA2

นายไลธิเซอร์กล่าวต่อไปว่า ตนและประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้ต้องการเพียงการปรับแก้เงื่อนไขเล็กน้อยเพียงไม่กี่ข้อ “เรารู้สึกว่านาฟต้าเป็นความล้มเหลวสำหรับชาวอเมริกันจำนวนมาก และจำเป็นต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่”  ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ เน้นยํ้าถึงความต้องการของรัฐบาลในการแก้ไขข้อตกลงนาฟต้า ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ดุลการค้าสมดุลมากขึ้น กำหนดสัดส่วนองค์ประกอบของชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ตลอดจนมาตรการตอบโต้การบิดเบือนค่าเงิน

ด้านนางคริสเตีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีต่างประเทศและผู้นำทีมเจรจาของแคนาดา กล่าวว่า แคนาดาต้องการปกป้องนาฟต้าในฐานะกลไกขับเคลื่อนการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกับกล่าวตอบโต้ฝ่ายสหรัฐฯ ว่า แคนาดาไม่ได้มองว่าการขาดดุลหรือเกินดุลการค้าไม่ใช่ปัจจัยชี้วัดหลักว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันประสบผลสำเร็จหรือไม่

“เราต้องการทำการค้าที่เที่ยงธรรมและเป็นธรรม โดยรู้ว่ามันไม่ใช่เกมที่มีผลลัพธ์เป็นศูนย์ นอกจากนี้เราอยากชี้ให้เห็นด้วยว่าเราเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ แคนาดาซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากกว่าจีน สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่นรวมกัน”

ขณะที่นายอิลเดฟอนโซ กัวยาร์โด รัฐมนตรีเศรษฐกิจเม็กซิโก กล่าวว่า ความท้าทายสำคัญสำหรับทั้ง 3 ฝ่าย คือหาจุดยืนร่วมกัน “เพื่อให้ข้อตกลงประสบความสำเร็จ มันจะต้องเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นก็ไม่ใช่ข้อตกลง”

โมนิกา เด บอลล์ นักวิชาการจากสถาบันเศรษฐ ศาสตร์นานาชาติปีเตอร์สัน ให้ความเห็นว่า จุดยืนที่แข็งกร้าวของสหรัฐฯ เรื่องการขาดดุลการค้าไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับได้สำหรับเม็กซิโกและแคนาดา และถ้าสหรัฐฯ ไม่ยอมถอย มีโอกาสที่การเจรจาจะหยุดชะงักมากกว่าประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัวนับตั้งแต่นาฟต้าเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2537 เป็นระดับเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560