ลาวชวนไทยลงทุนภาคบริการเน้นส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวสุขภาพการศึกษา

19 ส.ค. 2560 | 01:44 น.
นับตั้งแต่ปี 2553-2558 โครงสร้างเศรษฐกิจของสปป.ลาว ยังคงมีอุตสาหกรรมภาคบริการเป็นหัวจักรขับเคลื่อนหลัก โดยมีสัดส่วนถึง 47.2% ของจีดีพี ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรมการผลิต (29.1%) และภาคการ เกษตร (23.7%) แนวโน้มยังจะเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

[caption id="attachment_196720" align="aligncenter" width="283"]  แสงเดือน ไซยะสอน แสงเดือน ไซยะสอน[/caption]

นางสาวแสงเดือน ไซยะสอน ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการวางแผนและการลงทุน สปป.ลาว กล่าวในงานสัมมนา “โอกาสการลงทุนของไทยในอาเซียน” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา ลาวมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก สถิติล่าสุดในปี 2558 อยู่ที่ระดับ 4.5 ล้านคน ขณะที่จำนวนประชากรลาวมีเพียงประมาณ 6 ล้านคน ทำให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น การค้าปลีก การธนาคาร รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ขึ้นมารองรับการขยายตัว

นอกจากนี้ การที่ลาวพลิกยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจสร้างจุดแข็งของการเป็นประเทศจุดเชื่อมต่อในภูมิภาค หรือ land-linked country แทนจุดอ่อนของการเป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเล (land-locked country) ทำให้ลาวเน้นการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาคอาเซียนสู่เพื่อนบ้านที่เป็นตลาดสำคัญอย่างเช่นจีน มีการตัดถนนทางหลวงสายต่างๆเชื่อมโยงกัน รวมทั้งการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากพรมแดนมณฑลยูนนานของจีนเข้าสู่เมืองหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของไทยเข้าสู่มาเลเซียและสิงคโปร์ การพัฒนาไปสู่ทิศ ทางดังกล่าวทำให้สปป.ลาว ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ

[caption id="attachment_196721" align="aligncenter" width="283"] ตี้ ชี เส็ง ตี้ ชี เส็ง[/caption]

“กฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับปรับปรุงใหม่ของสปป.ลาวที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2559 มุ่งให้การส่งเสริมการลงทุนในภาคธุรกิจ 9 แขนง ได้แก่ ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ธุรกิจการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นี้ นักลงทุนต่างชาติสามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากเดิม 70% เป็น 100% แล้ว นอกจากนี้ยังส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจด้านการศึกษา ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเงินการธนาคาร และการค้าปลีกในรูปแบบที่ทันสมัย” 9 แขนงธุรกิจเหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนมากกว่าธุรกิจด้านอื่นๆ นอกจากนี้รัฐบาลลาวยังให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนที่เข้าไปบุกเบิกลงทุนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ (โซนA) โดยจะได้รับระยะยกเว้นภาษีถึง 10 ปี ขณะที่การลงทุนในพื้นที่เจริญแล้ว (โซนB) จะได้รับระยะยกเว้นภาษี 4 ปี เป็นต้น

ส่วนโครงการเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมูลค่า 5.95 พันล้านดอลลาร์ที่การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ต้นปี 2560 นี้และคาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะ 5 ปีข้างหน้านั้น นางสาวแสงเดือนกล่าวว่า เป็นโครงการใหญ่ที่เปิดโอกาสให้กับผู้ลงทุนในธุรกิจอื่นๆที่มีความเกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ค้าปลีก หรืออื่นๆ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีหลายโครงการที่ยื่นเสนอเข้ามาแล้ว “โครงการนี้เปิดโอกาสให้กับผู้ลงทุนไทยเข้ามามีส่วนร่วมได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกในช่วงที่เป็นสถานีหรือการรับเหมาช่วง โอกาสมีอยู่แต่ต้องยอมรับว่าเวลานี้มีโครงการต่างๆของผู้สนใจเข้าร่วม เสนอเข้ามาเยอะมากอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มทุนไทยซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 2 ในสปป.ลาว (รองจากจีน) ดูจะสนใจลงทุนทางด้านพลังงานมากกว่า”

สำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวน 12 แห่งทั่วสปป.ลาว ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้น และมีความสะดวกด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานรวมทั้งบริการด้านโลจิสติกส์ นายตี้ ชี เส็ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สะหวัน แปซิฟิกา ดีเวล ลอปเมนท์ฯ ผู้บริหาร “สะหวัน ปาร์ค” นิคมอุตสาหกรรมครบวงจรซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ในแขวงสะหวันนะเขต เปิดเผยว่า การเข้ามาลงทุนในสปป.ลาว จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ลงทุนไทยได้มาก เนื่องจากความใกล้ผนวกกับความสะดวก เพียงข้ามสะพานมุกดาหารมา 3 กม.ก็ถึงสะหวันปาร์คแล้ว ขนาดการลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก แต่สินค้าเมื่อผลิตส่งออกสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป ทำให้ได้เปรียบทางด้านราคา “ถึงแม้ลาวไม่มีท่าเรือ แต่เรามีท่าบกให้บริการตู้สินค้าทางบกที่ใช้ประโยชน์จากเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ถึงเดือนละ 500 ตู้ นำสินค้าไปได้ถึงท่าเรือดานังและเมาะลำไย รวมถึงการขนส่งลงใต้มาถึงมาเลเซีย ในอนาคตเมื่อมีการเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงกับจีนก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านโลจิสติกส์มากขึ้น” ปัจจุบันมีผู้ลงทุนในสะหวันปาร์ค 55 บริษัท เป็นผู้ลงทุนจากไทย 11 บริษัท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560