ขายข้าว‘จีทูจี’ปลอม!

21 ส.ค. 2560 | 23:05 น.
TP6-3289-a ทั้งคอการเมืองและไม่ใช่คอการเมืองทั้งหลาย เฝ้ารอวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ด้วยใจจดจ่อ ที่ “ศาลฎีกานักการเมือง” จะอ่านคำพิพากษาในคดีจำนำข้าวและคดีทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี

ประเด็นจีทูจีนั้นต้องมีการพิจารณาว่ามีการกระทำซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐจริงหรือไม่ ต้องย้อนไปดูพฤติกรรมและตัวละครหลายคนที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นให้คลายสงสัย

1.จีทูจีคือซื้อขายรัฐต่อรัฐ โดยรัฐประเทศหนึ่งตกลงสัญญากับรัฐอีกประเทศหนึ่ง กรณีนี้คือรัฐไทยตกลงกับรัฐจีนในการขายข้าว ข้อเท็จจริงคือกรมการค้าต่างประเทศ ตัวแทนรัฐไทย ทำสัญญากับรัฐจีนผ่าน บริษัทกว่าง ตง (GSSG) บริษัทซื้อขายเครื่องกีฬาและบริษัทไห่หนานฯ ทั้งในแง่หลักการ ข้อปฏิบัติประเพณีปฏิบัติจีทูจีกับจีนนั้นต้องผ่านคอฟโก ตัวแทนทางการของรัฐจีนเท่านั้น GSSG ไม่ใช่ ไห่หนานก็ไม่ใช่ ไม่ได้เป็นตัวแทนและมีหนังสือแต่งตั้งทางการจากรัฐบาลจีน

TP6-3289-Bb 2.ข้าวที่ขายออกไปนอกประเทศสู่รัฐบาลจีนจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ 3 ปีตั้งแต่ปี 2554-2556 มีการส่งออกไปจีนแค่ 3.75 แสนตัน ขณะที่ทำสัญญาซื้อขายข้าวกันกว่า 4 ล้านตัน ส่งมอบข้าวกัน 1.4 ล้านตัน และจ่ายเงินกัน 7.7 หมื่นล้านบาทเป็น “แคชเชียร์เช็ค” ที่จ่ายจากธนาคารในประเทศ เข้าบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ ผิดปกติวิสัยของการซื้อขายจีทูจี ซึ่งมักจะไม่ซื้อขายกันเป็นเงินสดหรือแคชเชียร์เช็ค โดยการค้าระหว่างประเทศระดับดีลหมื่นล้านบาทนั้น ต้องใช้วิธีเปิด L/C เท่านั้น

3.โครงการรัฐจำนำข้าวทุกเมล็ด ข้าวไหลเข้าสู่คลังหรือโกดังของรัฐแทบทั้งหมด เอกชนปกติไม่สามารถทำการค้าส่งออกได้ พ.ต.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการและอดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ได้เรียก 3 บริษัทเอกชนค้าข้าวเข้าพบที่ทำงานบอกว่า ถ้าต้องการข้าวในโกดัง ให้ติดต่อมาที่เขาโดยตรง และให้จ่ายเงินค่าข้าวเป็นแคชเชียร์เช็คไปที่กรมการค้าต่างประเทศ โดยหมอโด่งปฏิเสธว่าไม่เคยให้เอกชนเข้าพบที่ทำงานกับป.ป.ช. ก่อนหลบหนีเข้ากลีบเมฆ ไม่มาฟังการไต่สวนพยานในนัดหลังๆ ป.ป.ช.เห็นว่าการปฏิเสธของหมอโด่งไร้นํ้าหนัก

โรงสีหลายรายได้ติดต่อขอซื้อข้าวจากนายโจ พนักงานบริษัทสยามอินดิก้าฯ โดยนายโจแจ้งว่าถ้าซื้อข้าวให้จ่ายแคช เชียร์เช็คเข้าบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ พฤติกรรมของโจคล้ายคลึงกับหมอโด่ง และยังมีการจ่ายเงินเข้าบัญชีสุธี ซึ่งระบุที่ทำงานสยามอินดิก้าเช่นกัน และทั้งโจและสุธียังจ่ายแคชเชียร์เช็คเข้าบัญชีกรมการค้าต่างประเทศจำนวนสูงมาก โดยโจจ่าย 2.2 หมื่นล้านบาท สุธีจ่าย 5.5 พันล้านบาท โดยไม่ปรากฏว่าโจและสุธีได้รับมอบอำนาจให้ชำระเงินในนาม GSSG และไห่หนาน การณ์จึงกลายเป็นว่ามีการนำข้าวของรัฐที่ระบุว่าขายจีทูจี แต่กลับขายให้ผู้ประกอบการในประเทศ

ขณะบริษัทสยามอินดิก้าฯ ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าวจีทูจี โดยตนเองสั่งซื้อข้าวจากบริษัทสิงคโปร์ และบริษัทสิงคโปร์สั่งให้จ่ายเงินไปที่กรมการค้าต่างประเทศ แทนจ่ายเงินตรงไปยังบริษัทคู่ค้าสิงคโปร์ (บริษัทไทย ซื้อข้าวไทยแต่ไปซื้อจากบริษัทสิงคโปร์จ่ายเงินเข้าบัญชีหน่วยงานรัฐไทย งง...เด้ )

อย่างไรก็ดีงบการเงินของบริษัทที่มีการตรวจสอบย้อนหลังปี 2553-2556 ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินค่าวัตถุดิบข้าว แต่ในบัญชีมีแสดงว่าซื้อวัตถุดิบจากองค์การคลังสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ โดยนำใบ P/O ใบส่งสินค้า ใบกำกับภาษี ออกโดยองค์การคลังสินค้ามาใช้สอบบัญชี

คงพอจะมองเห็นแล้วว่าข้าวที่บอกว่าจีทูจี รัฐต่อรัฐ นั้นไม่ได้ถูกส่งออกไปนอกประเทศ การที่จะตัดตอนขายกันหน้าโกดังที่พยายามชี้แจงได้เงินมาแล้วจบนั้น จบจริงหรือไม่ ข้าวเหล่านั้นจะถูกนำมาวนเวียนเข้าโครงการ เพื่อฟันส่วนต่างมหาศาลของโครงการจำนำหรือไม่ ระทึกใจยิ่งนัก 25 สิงหาคมนี้...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560