ยักษ์ธุรกิจแห่จองคิวลุย ‘อีอีซี’

21 ส.ค. 2560 | 05:24 น.
“อุตตม” เผยอีอีซีคึกคัก ทุนโลกมาครบทั้งยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น คู่แข่งเร่งแผนขยับตามผู้นำที่ปักธงก่อน ฮอนด้าจ่อขอบีโอไอรถไฟฟ้าแน่ปีนี้ตามโตโยต้าที่เทเฉียด 2 หมื่นล้านทำรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ด้านแอร์บัสเร่งร่างแผนลงทุนศูนย์ซ่อมกับการบินไทย โบอิ้งสน “ไพล็อต เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์” ยักษ์ดิจิตอลก็มาทั้งลาซาด้า-อเมซอน

การประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ถึงความก้าวหน้าในการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญ ที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) คืบหน้าไปมาก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ล่าสุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้กับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบบผสม (Hybrid Electric Vehicles - HEV) เงินลงทุนรวม 19,016 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มลงทุนจริงได้ในปีหน้าเป็นต้นไปราว 1 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือลงทุนในปีถัดไป และที่ชัดเจนตามมาเป็นค่ายฮอนด้า อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไหน โดยคาดว่าจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอได้ภายในปีนี้

นอกจากนี้ ทาง สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ได้หารือเบื้องต้นกับค่ายรถยนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น BMW ที่สนใจลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ประ เภทปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) และ ลงทุนผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ส่วน FOMM และ BYD มีความสนใจลงทุนรถบัสไฟฟ้า ซึ่งก็ได้มอบหมายให้สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Association of Thailand: EVAT) ไปรวบรวมข้อมูล ความต้องการของผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อนำ เสนอให้ สกรศ. พิจารณาต่อไป

ด้านอุตสาหกรรมการบิน มีบริษัท แอร์บัสฯ ได้ร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน (MRO) กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อจัดทำแผนตามกระบวนการร่วมลงทุนกับแอร์บัส ตามร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.)

นายอุตตมกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือ กับทางบริษัท โบอิ้งฯ เพื่อลงทุนจัดตั้ง Pilot Training Center ร่วมกับสกรศ. เช่นเดียวกับบริษัท Sumitomo Precision Products ได้หารือเบื้องต้นแล้วเช่นกัน และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้โครงการลงทุน (Feasibility Study) เพื่อผลิตระบบ Landing Gear คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน และจะนำผลการศึกษามาหารือกับ สกรศ. ต่อไป ส่วนบริษัท Air Asia ได้แสดงความสนใจจะเปิดดำเนินการเส้นทาง/เที่ยวบิน ในเส้นทางจากที่ต่างๆ สู่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 3-5 ล้านคนต่อปี

ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิตอลหรือ E-Commerce/Digital ในการหารือล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทาง Lazada/ Alibaba และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สกรศ. สกท. บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กรมศุลกากร ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมขอให้ Lazada พิจารณาเลือกหรือระบุพื้นที่ในการลงทุนให้ชัดเจน เพื่อจะได้ทราบถึงมูลค่าการลงทุนที่แท้จริง และได้นัดหมายเพื่อหารือในเรื่องสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในที่ประชุมในครั้งต่อไป
ส่วนบริษัท Amazon อยู่ระหว่างหารือร่วมกับ สรกศ. และสำนักตลาดพาณิชย์ดิจิทัล กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง Amazon มีความสนในจะลงทุนเกี่ยวกับ Web-Services

ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) สกรศ. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด การลงทุนของ Fujifilm จากญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการ อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญ จากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Subaru, Spiber, Kuraray และ Kyocera หลังจากที่คณะรัฐบาลได้ไปโรดโชว์เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมถึงการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญ ณ กรุงปักกิ่ง จากประเทศ จีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560