เกษตรดันข้าวGAP เป้า5ปี29ล้านไร่

21 ส.ค. 2560 | 05:01 น.
กระทรวงเกษตรฯเดินเกมรุกป้องคู่ค้ากีดกันข้าวไทย ดันเกษตรกรปลูกข้าวมาตรฐาน GAP ดึงโรงสีจับคู่ซื้อให้ราคาสูงกว่าตลาด 300-500 บาทต่อตัน เป้า 5 ปี 29 ล้านไร่ เตรียมออกเครื่องหมายรับรอง Q-GAP ตีตลาดโลก

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯให้เร่งดำเนินการใน 3 ภารกิจหลักได้แก่ 1.การขับเคลื่อนการผลิตข้าวครบวงจร 2. เกษตรอินทรีย์ และ 3.มาตรฐานสินค้าเกษตร เป้าหมายเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรไทยในภาพรวมนั้น

ในส่วนของข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญและเป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของไทย (ผลผลิตข้าวไทย 50% จะส่งออก มีมูลค่าเฉลี่ย 1.5-1.7 แสนล้านบาท/ปี) ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าวอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการยกระดับการปลูกข้าวของไทยไปสู่ข้าวคุณภาพตามมาตรฐานจีเอพี หรือการผลิตตามหลักการทำเกษตรที่ดีและมีความปลอดภัย (Good Agricultural Practices : GAP) โดยขับเคลื่อนภายใต้เกษตรแปลงใหญ่ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการคือผู้ปลูกข้าว ต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร มีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ไม่ใช้แรงงานเด็ก ซึ่งทิศทางข้าวจีเอพีของโลกจะมาแน่นอนในไม่ช้า ดังนั้นไทยจะต้องทำงานเชิงรุกและเตรียมการรองรับ เพราะในอนาคตมาตรฐานจีเอพีอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า หากการส่งออกข้าวไทยมีปัญหาอาจจะซํ้ารอยสินค้าประมง แต่จะมีความรุนแรงมากกว่า

GAP

รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์การผลิตข้าวจีเอพี 5 ปี (ปี 2560-2564) มีเป้าหมาย 29 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศเวลานี้ 66 ล้านไร่ โดยปีนี้เริ่มแล้ว 1.7 ล้านไร่ภายใต้นาโครงการแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งยังต้องลุ้นว่าปลายปีนี้จะมีผลผลิตข้าวจีเอพีประมาณเท่าใด เพราะหลายพื้นที่เกิดนํ้าท่วมผลผลิตได้รับความเสียหาย

“แหล่งนํ้าที่ปลูกข้าวมาตรฐานจีเอพีต้องไม่มีสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน พื้นที่ปลูกต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุอันตรายที่อยู่ใกล้แปลงปลูกข้าว ซึ่งจะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตผล ที่สำคัญต้องมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้ อาทิ จากกรมการข้าว ศูนย์ข้าวชุมชนหรือจากเอกชนที่น่าเชื่อถือ สารเคมีให้ใช้ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่กรมการข้าว ที่จะไปเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลเป็นระยะๆ”

1461583721-6396793cb1b6f86da290f2b474db2632

ทั้งนี้ในห่วงโซ่การผลิตเพื่อรองรับข้าวจีเอพี จำเป็นที่จะต้องส่งเข้าสู่กระบวนการสีแปรด้วยโรงสีที่ได้รับการรับรองจีเอพี แล้วผลิตเป็นสินค้าข้าวมีเครื่อง หมาย Q-GAP รับรอง ซึ่งต้องสร้าง ความรู้ความเข้าใจว่า กว่าจะมาเป็นข้าวสาร Q (Quality) ขั้นตอนการผลิตต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ข้าวจีเอพีของเกษตรนี้จะมีการจับคู่กับโรงสีจีเอพีเพื่อให้รับซื้อในราคาสูงกว่าราคาตลาดข้าวทั่วไป 300-500 บาทต่อตันเพื่อสร้างแรงจูงใจ ในส่วนของปัจจุบันโรงสีจีเอพี ปัจจุบันกำลังเปิดรับสมัครประกอบการเข้าร่วมโครงการโดยจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% และช่วยแนะนำช่องทางตลาดให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“สาเหตุจะต้องมีการจับคู่กัน กว่าชาวนาจะได้แปลงรับรองมาตรฐานไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หากโรงสีไม่มีคุณธรรม นำข้าวชาวนามาสีแปรปลอมปนจะไม่ใช่ข้าวจีเอพี จากนั้นจะเชื่อมโยงตลาดส่งตรงถึงมือผู้บริโภคที่รักสุขภาพทั้งในและต่างประเทศผ่านกระ บวนการค้าปลีกและค้าส่งโดยจับคู่กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งเป็นการทำ งานบูรณาการระหว่าง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ และมหาดไทย เรื่องนี้คณะกรรม การนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้เห็นชอบแล้ว”

นางสาวชุติมา กล่าวด้วยว่า ข้าวจีเอพีในปีที่ 2 ต้องรอลุ้นว่าในปีแรกนี้จะประสบความสำเร็จในการยกระดับราคาและมาตรฐานได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้ชาวนามีความเชื่อมั่นและเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องรีบทำก่อน เพราะไทยไม่ใช่เป็นประเทศเดียวที่ปลูกข้าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560