BKI ชี้ทิศประกันภัยทั้งปีโต 2%

18 ส.ค. 2560 | 14:04 น.
BKI ชี้ทั้งปีตลาดวินาศภัยโตไม่เกิน 2% เน้นขยายงานรับกำลังซื้อต่างจังหวัด ทั้งธุรกิจกลุ่มเสี่ยงโจรกรรมฐานข้อมูลหนุน Cyber Insurance นอกจากรถยนต์-ชี้แนวโน้มงานประกันโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของรัฐไม่เป็นไปตามคาด

นายพนัส  ธีรวณิชย์กุล  กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยช่วงครึ่งหลังของปี 2560 โดยคาดว่า ตลาดยังคงมุ่งการขยายงานลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ยังเป็นเป้าหมายหลักทางการแข่งขันของบริษัทประกันภัย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในปี 2560  จากที่หดตัวต่อเนื่อง 4 ปี  (Toyota Motor Thailand : ครึ่งปีแรกเติบโต 11.2% ด้วยจำนวน 409,977 คัน) ซึ่งยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเติบโตกว่า 25% เป็นผลจากการสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์ 5 ปีของนโยบายรถคันแรก ทำให้เจ้าของรถสามารถจำหน่ายและซื้อรถยนต์ใหม่ได้

[caption id="attachment_196728" align="aligncenter" width="335"] นายพนัส ธีรวณิชย์กุล นายพนัส ธีรวณิชย์กุล[/caption]

ทั้งนี้ คาดว่าการขยายงานประกันภัยรถยนต์ นอกเหนือจากการแข่งขันด้านราคาแล้ว บริษัทประกันภัยน่าจะมุ่งเน้นการขยายงานในตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อยู่ในภาคการเกษตรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีมากขึ้น สาเหตุจากปีนี้ไม่มีปัญหาภัยแล้งเช่น 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลดีต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ผนวกกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร : ดัชนีรายได้เกษตรกรในช่วง 6 เดือนแรกปี 2560 เพิ่มขึ้น 14.6% และคาดว่า GDP ภาคการเกษตรจะขยายตัว 2.5 - 3.5% เปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าที่หดตัว 0.5%)

อย่างไรก็ตาม ประกันภัย Cyber Insurance น่าจะขยายตัวได้ดีสำหรับกลุ่มลูกค้า Corporate  โดยมีแนวโน้มที่จะมีบริษัทประกันภัยขออนุมัติจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 7 บริษัท (FPG,  Allianz, AIG, Newhampshire, โตเกียวมารีน, ไทยประกันภัย และทิพยประกันภัย ที่มา: คปภ. มิ.ย. 60) ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคและภาคธุรกิจเริ่มมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Cyber Risk และตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันภัย Cyber มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเป้าหมายในการถูกโจรกรรมฐานข้อมูลลูกค้าในระดับต้น ๆ  เช่น สถาบันการเงิน สถานพยาบาล ธุรกิจการขนส่ง  เป็นต้น

ด้านปัจจัยลบในเรื่องผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายของภาคการเกษตรและภาคธุรกิจประมาณ 10,000 ล้านบาท ย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว

นายพนัสกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทประกันภัยต่างๆ มีแนวโน้มการแข่งขันด้านคุณภาพในการให้บริการงานประกันภัยและสินไหมทดแทน โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ตลอดจนเพื่อการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยมีการพัฒนา Application บน Smartphone ให้มีฟังก์ชั่นที่หลากหลายและครอบคลุมการให้บริการมากยิ่งขึ้น

สำหรับการขยายงานลูกค้ารายย่อยผ่านช่องทาง Digital เริ่มมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนา Digital Platform ของบริษัทประกันภัยเอง และการร่วมมือเป็นพันธมิตรกับโบรกเกอร์ที่เน้นการจำหน่ายผ่านช่องทาง Digital โดยเฉพาะ ด้านการขยายงานกลุ่มลูกค้า Corporate นั้น จากที่อัตราเบี้ยประกันภัยต่อในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มลดลง ทำให้ตลาดประกันภัยยังคงเผชิญการแข่งขันรุนแรงด้านราคาของการรับประกันภัยทรัพย์สิน นอกจากนี้ เบี้ยประกันภัยรับจากงานประกันภัยโครงการก่อสร้างพื้นฐานคมนาคมของภาครัฐมีแนวโน้มไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากการเลื่อนการก่อสร้างในหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) โครงการรถไฟรางคู่ 5 เส้นทาง เป็นต้น

ทั้งนี้ ด้านการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2560 นั้น สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้คาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ระดับไม่เกิน 2%  เนื่องจากเบี้ยประกันภัยหลายประเภทปรับลดลง ทั้งจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงและการปฏิบัติตามคำสั่ง/ประกาศของ คปภ. เช่น การให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยภาคสมัครใจสำหรับรถยนต์ที่ติดกล้อง CCTV 5-10% ส่วนลดสำหรับกรมธรรม์ปลอดแอลกอฮอล์ 10% การปรับลดอัตราประกันอัคคีภัยลง 10-15% เป็นต้น