ผนึก 'รัฐ-เอกชน' กระตุ้นเศรษฐกิจ!

18 ส.ค. 2560 | 12:50 น.
เมื่อวานนี้(17 ส.ค.60) เวลา 16.00 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการคลัง และรองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายประยูร รัตนเสนีย์) ร่วมเป็นประธานการประชุม Video Conference เพื่อชี้แจงข้อราชการเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด คลังจังหวัด สรรพากรพื้นที่ อัยการจังหวัด อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้แทนฝ่ายทหาร ผู้แทนธนาคารออมสิน และผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และขอความร่วมมือจังหวัดช่วยขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจที่สำคัญต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงการคลัง

ในโอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดระยอง ทรงเข้าร่วมการประชุมและได้ประทานข้อมูลคำแนะนำว่า  ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดระยอง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนและแนะนำให้นำหนี้เข้าสู่ในระบบผ่าน ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน และให้การสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล

พร้อมทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และปัญหาทางการเงินในเชิงป้องกัน ได้แก่ การส่งเสริมความรู้พื้นฐานในการวางแผนทางการเงินให้กับประชาชน รวมถึงความรู้ในการเริ่มประกอบธุรกิจหรือประกอบอาชีพ ทั้งด้านการวางแผนธุรกิจ และการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดทุนลง สำหรับเรื่องของแชร์ลูกโซ่ มีสาเหตุจากคนอยากได้เงินง่าย อยากได้เงินเร็ว โดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลและเตือนภัยแก่ประชาชนในเรื่องของการลงทุนดังกล่าว รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนได้อย่างมาก

images

นายกฤษฎา  จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมดังกล่าว ปลัดกระทรวงการคลังได้ชี้แจงข้อมูลและขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดใน 5 ประเด็นประกอบด้วย  1. การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน : โดยยกนครนายก เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความพร้อมและริเริ่มจัดทำ “นครนายกโมเดล”เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบแล้ว นอกจากขอความร่วมมือประกาศตัวเป็นจังหวัดจัดการหนี้นอกระบบเป็นวาระงานสำคัญของจังหวัดพร้อมประสานให้ศูนย์ดำรงธรรมนำลูกหนี้นอกระบบไปรับความช่วยเหลือที่สาขาธนาคารออมสิน หรือธนาคารธ.ก.ส พร้อมทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์อย่างแพร่หลาย

2. การเตือนภัยเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ : มอบหมายให้คณะอนุกรรมการป้องปรามธุรกิจการเงินนอกระบบในส่วนภูมิภาคระดับจังหวัด (คณะอนุกรรมการฯ) ดำเนินการเฝ้าระวัง สอดส่องดูแล และป้องปรามธุรกิจแชร์ลูกโซ่ และจัดส่งคู่มือแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ สำหรับให้จังหวัดใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ต่อไปและเตือนภัยประชาชนเกี่ยวกับภัยของแชร์ลูกโซ่ในวงกว้าง

3. โครงการ National e-Payment : ขอให้ทุกจังหวัดกระตุ้นหน่วยงานภาครัฐและร้านค้าในจังหวัดเร่งติดตั้งเครื่อง EDC รวมถึงพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ เช่น ตลาดนัด หรือถนนคนเดินในจังหวัด จังหวัดละ 1 - 2 แห่ง นำร่องเป็นพื้นที่หรือถนนไร้เงินสด ซึ่งธนาคารกรุงไทยพร้อมจะเข้าไปติดตั้งเครื่อง EDC ให้ฟรี โดยให้คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) เป็นผู้ติดตามประสานงานต่อไป   สำหรับผู้ใช้บัตรเดบิตและสำหรับร้านค้าที่ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture : EDC) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการจับรางวัลเป็นประจำทุกเดือน โดยมีเงินรางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท

4. การส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) : ปัจจุบันมีจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 8จังหวัดพร้อมขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานหน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนโครงการจัดตั้ง Startup Club ในโรงเรียนระดับมัธยม/อาชีวะศึกษา 1 โรงเรียน 1 จังหวัด ทั่วประเทศให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง คบจ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ

5. แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับจังหวัด : เนื่องจากพบว่า เศรษฐกิจจุลภาคในระดับจังหวัดยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควรในหลายเรื่อง เช่น เกษตรกรและประชาชนยังประสบปัญหาด้านรายได้ จึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการทุกจังหวัดจัดให้มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัด โดยพิจารณานำเงินงบประมาณส่วนที่เหลือจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาใช้ดำเนินโครงการ ซึ่งในภาพรวมของประเทศมีเงินดังกล่าวอยู่จำนวน 1 - 2 แสนล้านบาท เช่น พัฒนา แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด โครงการส่งเสริมสุขอนามัย เป็นต้น