อินเดียสกปรกที่สุดในโลก จริงหรือ?

19 ส.ค. 2560 | 07:00 น.
TP7-3289-a หนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งไม่ต้องการไปเที่ยวอินเดีย คือ ความสกปรก หลายคนเดินทางไปท่องเที่ยวอินเดียโดยใช้ชีวิตอยู่เฉพาะบนรถบัส สถานที่ท่องเที่ยว และโรงแรม โดยไม่กล้าออกไปเดินดูบ้านเมืองของเขาตามท้องถนน เพราะสกปรก บางคนมองเรื่องที่มากไปกว่า เรื่องของความสกปรกรกรุงรัง แต่มองไปถึงเรื่องของความสกปรกในเรื่องของการทำธุรกิจ เงินสกปรกจากการทำธุรกิจใต้ดิน และการคอร์รัปชัน

แน่นอนครับว่า อินเดียสกปรกจริง ต้องเข้าใจว่าประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสทางเศรษฐกิจ ยากจน และไม่มีความรู้ ทำให้ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนแออัด อินเดียสกปรกจริงครับ แต่ถ้าถามผมว่า แล้วประเทศไหนในโลกล่ะ ที่เดินหน้าต่อสู้กับปัญหาความสกปรกเหล่านี้ด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ และเอาจริงเอาจังที่สุดในโลก คำตอบของผมคือ ประเทศอินเดียครับ

แน่นอนเมื่อพูดถึงการปราบเงินสกปรก ปฏิบัติการอันลือลั่นที่สุดในโลกของรัฐบาลอินเดียคือ การประกาศยุติการใช้ธนบัตร (Demonetization) 500 รูปี (ประมาณ 250 บาท) และ 1,000 รูปี (ประมาณ 500 บาท) ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ที่ผ่านมา แน่นอนว่ามีช่วงเวลาให้ประชาชนนำเอาธนบัตรรุ่นเก่ามาแลกเป็นธนบัตรรุ่นใหม่ราคา 2,000 รูปี และ 100 รูปีได้ แต่ก็ต้องมีการสำแดงที่ไปที่มาของธนบัตรเก่าเหล่านั้น และจำกัดให้ทำได้ในปริมาณเท่าที่สามารถสำแดงที่มาที่ไปของเงินได้เท่านั้น

แน่นอนว่ามีผลทางลบต่อประชาชนจำนวนมาก อาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นบ้าง แต่อย่างน้อยเงินสดจำนวนมหาศาลจากธุรกิจผิดกฎหมายและการคอร์รัปชันก็ถูกกำจัดออกไป ขณะนี้เรื่องประสิทธิภาพของการปราบโกงด้วยวิธีนี้อาจยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการ แต่ถามว่ารัฐบาลอินเดียเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่จะเข้าไปจัดการทำความสะอาดเรื่องสกปรกเหล่านี้หรือไม่ ผมขอบอก ว่า กล้าหาญมากครับ

มาดูเรื่องสกปรกทางกายภาพกันบ้าง แน่นอนครับ ถนนที่อินเดีย แม่นํ้าที่อินเดีย อาจจะเต็มไปด้วยขยะ แต่ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียกำลังเดินหน้าโครงการ “อินเดียเอี่ยมสะอาด (Swaccha Bharat)” ที่เน้นไปในการสร้างจิตสำนึกให้คนอินเดียได้ตระหนักในเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการรักษาสุขอนามัย

ดังนั้นปัญหาที่ผมกล่าวมาตอนต้นว่า ประชาชนขาด ความรู้ ขาดจิตสำนึก กำลังจะได้รับการแก้ไข แน่นอนครับกระบวนการสร้างจิตสำนึกใช้ระยะเวลายาวนาน แต่อย่างน้อยการเริ่มต้นอย่างจริงจังก็ทำให้กระบวนการที่ยาวนานนี้มีจุดเริ่มต้นแล้ว อย่าลืมนะครับว่า ปี 2526 ประเทศไทย คือประเทศที่สกปรกที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลก และเราใช้เวลา 20 ปี (2527-2547) ในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกรักษาความสะอาดผ่านโครงการ “ตาวิเศษ” จนทำให้คนไทยปัจจุบันมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการรักษาความสะอาดของพื้นที่สาธารณะ

แต่อินเดียเอี่ยมสะอาด ก็ยังไม่พอ อินเดียก้าวหน้าไปกว่านั้นครับ ปี 2010 อินเดียบังคับใช้กฎหมาย National Green Tribunal Act, 2010 (NGT) และมีการจัดตั้งหน่วยงานและศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นครับ มีการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด รวมทั้งมีการเสนอ นโยบายเด็ดๆ เพื่อการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นของประเทศ หนึ่งในสิ่งที่คนไทยสัมผัสได้จากนโยบายเหล่านี้ อาทิ ในอินเดียร้านค้าส่วนใหญ่ เวลาเราซื้อของจะไม่มีถุงพลาสติกให้นะครับร้านสะดวกซื้อไม่มีถุง ร้านเสื้อผ้าแม้แต่ในตลาดก็ให้ถุงผ้าดิบบางๆ แทน ร้านหนังสือจะให้ถุงกระดาษ ฯลฯ

แน่นอนสำหรับร้านที่ไม่มีถุงแจก ลูกค้าสามารถซื้อถุงได้ นั่นก็ทำให้คนซื้อต้องคิดแล้วครับว่าจะเปลี่ยนเป็นถือถุงผ้าไปเอง ดีมั้ย ลองนึกภาพนะครับว่าประเทศที่มีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน ถ้าทุกร้านแจกถุงพลาสติก ขยะพลาสติกจะ มากแค่ไหน นี่คือความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของอินเดียครับ (อาจจะก้าวหน้ากว่าไทยด้วยซํ้า)

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา NGT ออกกฎหมายใหม่ล่าสุด นั่นคือ ห้ามใช้ถุงพลาสติกที่ความหนาน้อยกว่า 50 ไมครอน (ถุงก๊อบแก๊บ) คราวนี้ไม่ใช่แค่ห้ามร้านค้าแจกถุงครับ แต่ลูกค้าจะซื้อก็ไม่ได้ และถ้าใครหิ้วถุงก๊อบแก๊บเหล่านี้ ตำรวจจับและต้องถูกปรับ 5,000 รูปี หรือ 2,500 บาทไทยครับ แน่นอนทุกคนทราบครับว่า การเลิกใช้ถุงเหล่านี้ก็เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ลดจำนวนขยะ แต่คำถามคือ ทำไมต้อง 50 ไมครอน หรือถุงก็อบแก็บ

ถ้าพิจารณาในทางเศรษฐศาสตร์ แน่นอนครับว่า ถุงก๊อบแก๊บคือถุงพลาสติกชนิดที่มีราคาถูกที่สุด นั่นจึงทำให้มีการใช้ในปริมาณที่มากที่สุด และเมื่อราคาถูก ร้านค้าก็แจกฟรี หรือในกรณีที่ลูกค้าต้องซื้อถุงเหล่านี้ก็ราคาถูกมากซะจนลูกค้าไม่รู้สึกอยากที่จะหิ้วถุงผ้าไปซื้อของครับ หรือราคาของถุงก็อบแก็บเป็นค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ที่ตํ่ามากนั่นเอง เพราะมองว่าการถือถุงผ้ามีความเกะกะ มีภาระ ซึ่งคิดเป็นต้นทุนสูงกว่าควักกระเป๋าจ่ายเงินค่าถุงก๊อบแก๊บ ซึ่งส่วนใหญ่ขายกันที่ราคา 0.50 รูปี หรือ 25 สตางค์เท่านั้น แต่ถึงขายถูกขนาดนี้ห้างร้านก็อยากขายถุงเหล่านี้ครับ เพราะได้กำไรดี เนื่องจากร้านค้าซื้อมาเพียง ถุงละไม่ถึง 0.1 รูปีเท่านั้น

ดังนั้นทุกครั้งที่ลูกค้าซื้อถุงก๊อบแก๊บ ร้านค้าจะได้กำไรมากกว่า 400% จากการขายถุง นั่นจึงทำให้ถุงก๊อบแก๊บเหล่านี้มีปริมาณการใช้สูงมากครับ (มาก กว่า 1.5 ล้านตัน/ปี ในอินเดีย) และเมื่อลูกค้าซื้อถุงเหล่านี้มาแล้ว ด้วยความที่ราคาของมันถูกมาก ก็จะไม่มีใครเอาถุงเหล่านี้มาเก็บเพื่อใช้ใหม่ในครั้งต่อไปส่วนใหญ่ก็จะทิ้ง

หรือในกรณีของประเทศ ไทย เราจะนิยมเก็บไว้เป็นถุงขยะ ซึ่งก็จะไปสร้างปัญหาในลักษณะของผลภายนอกทางลบ (Negative Externality) อีกเพราะถุงเหล่านี้บางมาก เมื่อใส่ขยะจำนวนมากถุงก็จะขาดและทำให้ขยะในถุงหล่นกระจายเกลื่อนกลาดสร้างความสกปรกเพิ่มมากขึ้น เท่านั้นยังไม่พอถุงเหล่านี้มักจะเป็นตัวการสำคัญของการอุดตันของท่อระบายนํ้าซึ่งทำให้เกิดปัญหานํ้าท่วม การกำจัดขยะถุงเหล่านี้ก็มีต้นทุนที่สูง สูงมากกว่าราคาถุงเสียอีก อายุการย่อยสลายตามธรรมชาติก็ยาวนาน และยังใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองในการผลิตขึ้นมาอีกต่างหาก

แน่นอนครับการใช้ค่าปรับ และปรับอย่างรุนแรง จะเป็นกลไกสำคัญที่ไม่เพียงแต่ทำให้ทุกคนเลิกใช้ถุงก๊อบแก๊บ แต่ยังพลอยทำให้เลิกใช้ถุงพลาสติกชนิดอื่นๆ ตามไปด้วยครับ เพราะตาของคนเราแยกไม่ออกหรอกครับว่า 50 ไมครอน กับ 60 ไมครอน ต่างกันอย่างไร ดังนั้นอะไรที่เป็นถุงบางๆ ก็เลิกใช้ไปก่อนเพราะกลัวค่าปรับ

ความกล้าหาญในเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแบบนี้ครับ คือสิ่งที่เราต้องการให้คนไทยได้เรียนรู้จากประเทศอินเดีย และนี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพียงเรื่องเดียวที่เห็นจากการนำคณะนิสิตและคณาจารย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเดินทางเพื่อศึกษาประเทศอินเดียภายใต้โครงการ “ภารตสิกขยาตรา” โดยศูนย์อินเดียศึกษา และศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,289 วันที่ 20 - 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560