ปตท.สผ.พร้อมร่วมประมูลทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ

16 ส.ค. 2560 | 11:28 น.
ปตท.สผ. พร้อมเข้าร่วมประมูลสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ ทั้งแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ เพื่อมีส่วนร่วมในการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่ง และให้บริษัทไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ยืนยันความพร้อมกับระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. มองว่าเป็นการดีที่ครม.ได้มีมติอนุมัติในหลักการของร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 3 ฉบับ และเห็นชอบในประกาศร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เนื่องจากกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับนี้จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ทำให้การประมูลสัมปทานที่จะหมดอายุ คือแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากการประมูลมีความล่าช้ามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

[caption id="attachment_195706" align="aligncenter" width="335"] นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย[/caption]

“เราพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลทั้งในแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ และในฐานะที่ ปตท.สผ. เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติซึ่งมีรัฐเป็นผู้ถือหุ้น เราจึงมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อให้บริษัทไทยมีส่วนร่วมในการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่ง บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเสนอประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดให้กับภาครัฐ” นายสมพร กล่าว
ทั้งนี้ แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยการผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แหล่ง คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมทั้งหมดในประเทศ Image

ส่วนรายละเอียดจากร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่งนั้น ปตท.สผ. มีประสบการณ์การลงทุนในประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นเวลาหลายปี ทำให้มีความเข้าใจการทำงานในระบบนี้เป็นอย่างดี อีกทั้งบริษัทยังได้เตรียมความพร้อมทั้งกลไกการทำงานภายในและการสนับสนุนภาครัฐที่สามารถทำให้การดำเนินการผลิตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ด้านเงื่อนไขการเปิดประมูลหรือทีโออาร์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณการผลิตหรือราคานั้น จากความรู้และความคุ้นเคยในพื้นที่ ปตท.สผ. เตรียมที่จะนำเสนอประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดให้รัฐ ซึ่งนอกจากผลประโยชน์ที่รัฐจะได้จากข้อเสนอในการประมูลแล้ว รัฐยังจะได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมในฐานะผู้ถือหุ้น ปตท.สผ. อีกทางหนึ่งด้วย” นายสมพร กล่าว