บ้านประหยัดพลังงานจากอิหร่าน

19 ส.ค. 2560 | 06:31 น.
พลันที่ “โซลาร์ รูฟ” แผงโซลาร์เซลล์ในรูปแบบกระเบื้องมุงหลังคาของบริษัท เทสลาฯ วางตลาดในสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆนี้ วงการสถาปนิกก็ขานรับผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวด้วยรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่จะสามารถใช้ประโยชน์จากปริมาณแสงแดดที่สาดส่องลงบนกระเบื้องหลังคาได้มากที่สุด เพราะเป้าหมายของการเลือกใช้กระเบื้องโซลาร์รูฟนั้น ก็เพื่อที่จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดผ่านระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

MP31-3288-3 ความตื่นตัวเกี่ยวกับโซลาร์รูฟส่งแรงกระเพื่อมไกลไปถึงประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมาทางการเมืองกับสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว โชคดีที่เทรนด์เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านพลังงานและการก่อสร้างไม่อาจถูกสกัดกั้นด้วยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นเราจึงได้เห็นบ้าน “อาลาวี เฮาส์” (Alavi House) ในเมืองอิสฟาฮัน ประเทศอิหร่าน เป็นตัวอย่างของบ้านพักอาศัยที่นำกระเบื้องโซลาร์รูฟของเทสลามาเป็นองค์ประกอบหลักของการออกแบบได้อย่างลงตัว บ้านหลังนี้ไม่เพียงมีรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสวยงาม แต่ยังผสานเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาได้อย่างไร้ที่ติ

MP31-3288-2 บ้านอาลาวี เฮาส์ เป็นผลงานการออกแบบของบริษัท บีเอ็มดีไซน์ สตูดิโอฯ ในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ที่ตั้งของตัวบ้านเป็นเชิงเขาที่อยู่บริเวณชายขอบของทะเลทราย ความโค้งยกสูงของทรงหลังคาสอดคล้องกับทิศทางลมเพื่อการระบายและถ่ายเทอากาศได้ดีตามธรรมชาติ ผนังบ้านบุวัสดุที่เป็นฉนวน 2 ชั้นเพื่อให้อุณหภูมิภายในตัวบ้านไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไปด้วยผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศนอกตัวอาคาร

MP31-3288-1 บ้านหลังนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากเกินความต้องการใช้ พื้นที่หลังคา 194 ตารางเมตรใช้กระเบื้องโซลาร์ 104 ชิ้น มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมอย่างน้อย 29,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ต่อปี ความสามารถดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการออกแบบให้แผ่นหลังคาโซลาร์รูฟสามารถปรับองศาในลักษณะพับขึ้น-ลง (คล้ายลักษณะการปรับองศาของกระจกหน้าต่างบานเกล็ด) เพื่อรับแสงแดดได้เต็มที่ตลอด
ทั้งวัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560