ทางเดียวไม่เลี้ยวไปไหน : ป.ป.ช.ต้องอุทธรณ์คดีสลายพันธมิตร เพื่อรักษาความเชื่อถือของประชาชน

16 ส.ค. 2560 | 11:39 น.
1485871902327

ทางเดียวไม่เลี้ยวไปไหน
โดย...สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม

ป.ป.ช.ต้องอุทธรณ์คดีสลายพันธมิตร เพื่อรักษาความเชื่อถือของประชาชน

เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล อ ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพล.ต.ท สุชาติ เหมือนแก้ว "ไม่มีความผิด" ในข้อหาเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามมาตรา 157 ตามที่ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้อง!
9954 แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเคารพคำพิพากษาของศาล!

แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือคดีนี้ "ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง" ไม่ใช่ "พนักงานอัยการ" ดังนั้น ป.ป.ช.จึงควรอย่างยิ่งที่จะ "อุทธรณ์" เพราะเป็นโจทก์เอง

ทำไมถึงกลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าป.ป.ช.จะ อุทธรณ์หรือไม่?

9979

ก็ต้องย้อนรอยไปดูความเป็นมา!
เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ในตอนเช้ามืดวันที่ 7 ตุลาฯ 2551 ข้อเท็จจริงก็คือ จะมี "การแถลงนโยบาย" ของรัฐบาลที่มีนายสมชายวงศ์สวัสดิ์ เป็น "นายกรัฐมนตรี" ที่รัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 "กลุ่มพันธมิตรฯ" ซึ่งในขณะนั้นชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลก็ได้ขยายพื้นที่การชุมนุมมาที่หน้ารัฐสภา

ปรากฎว่าในคืนวันที่ 6 ได้มีการประชุมครม.นัดพิเศษขึ้นที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว โดยมี พล.ต.อ พัชรวาท ในฐานะผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติในฐานะผบช.น.เข้าร่วมประชุมด้วย


1502881361042

ผลการประชุมต้องการ "ปฎิบัติการเคลียร์" พื้นที่ให้ "สมาชิกรัฐภา"เข้าประชุมให้ได้ในเช้าวันที่ 7จะด้วยมติที่ประชุมอย่างนี้หรือเปล่า? ทำให้เช้าวันนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.ท สุชาติ ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ได้ปฎิบัติการ "ยิงแก๊สน้ำตา" ที่สำคัญไม่ได้เป็นการยิงวิถีโค้ง แต่ยิงตรงๆ  ใส่ผู้ชุมนุมเลย และโดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการเจรจาและการผลักดันตามหลักสากลแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ปกติของการชุมนุมในตอนเช้า เป็นช่วงที่ผู้ชุมนุมเบาบาง ซึ่งในเช้าวันนั้นมีอยู่ไม่ถึง 1,000 คน

และการยิงแก๊สน้ำตา ก็ดำเนินต่อไปตลอดทั้งวัน แม้สมาชิกรัฐสภาจะได้ "เข้าประชุมและแถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อย" แล้วตั้งแต่ตอนบ่ายและได้ออกจากรัฐสภาแล้วก็ตาม!

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้บาดเจ็บ 471 คนเสียชีวิต 2 คน....

มีอีกข้อเท็จจริงที่ควรทราบก็คือ วันนั้นทหารเสนารักษ์ของกองทัพได้ออกมาช่วยเหลือประชาชนก็ยังถูกยิงแก๊สน้ำตาใส่ด้วย
ptm

วันที่ 16 ตุลาคม อีก 10 วันถัดมา พล.อ.ทรงกิตติ จักกะบาท ผบ.สส. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และผบ.เหล่าทัพทุกเหล่าทัพได้ออกทีวีทางช่อง 3 ยืนยัน การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนั้นรุนแรงเกินไป!

นั่นเป็นท่าทีที่ผบ.เหล่าทัพได้แสดงออก แล้วถ้าย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมไปจนถึงเวลา 09:00 น.เศษ พล.อ.ชวลิต ในฐานะรองนายกฯ ก็ได้ประกาศ "ลาออก" เพื่อแสดงความ "รับผิดชอบ" นั่นก็เป็นการ "ยืนยัน" ว่าเกิดเหตุการณ์รุนแรงจริงๆ

551000013098601

นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่ประเด็นที่ทำให้ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามมากก็คือ

ที่ป.ป.ช.จะอุทธรณ์หรือไม่นั้นเกี่ยวพันกับการที่ประธานป.ป.ช.คือ "พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ" มีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับหนึ่งในผู้ต้องหาหรือไม่???

เพราะพล.ต.อ.วัชรพล นั้น เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.ในยุคที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นผบ.ตร.ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งต้องถือว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องมีความใกล้ชิดกับผบ.ตร.เป็นอย่างยิ่ง!!!

คสช.เข้ายึดอำนาจก็ให้รักษาการ "ผบ.ตร." แทน พล.ต. อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว!

เกษียณอายุราชการก็มาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ"

จากนั้นก็ลาออกเมื่อได้รับเลือกเป็น "ประธานปปช."

14501488651450150516l1 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ


ตรงนี้สำคัญเพราะเมื่อเข้ามานั่งเป็นประธานป.ป.ช.ก็ได้ประชุมและมีมติ "เพิ่มอำนาจ" ของป.ป.ช.ให้ "ถอนคดี" ที่อยู่ในศาลได้หากผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม!!!

น่าสนใจหลังจากนั้น 4 ผู้ต้องหาในคดีนี้ก็ได้ยื่นขอความเป็นธรรมมา คณะกรรมการป.ป.ช.ได้มอบให้เจ้าหน้าที่ไปทบทวนคดีนี้ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าถอนไม่ได้

ด้วยเหตุผลดังนี้จึงสมควรอย่างยิ่งที่ป.ป.ช.ควรจะยื่นอุทธรณ์คดีสลายม็อบพันธมิตร เพราะ!

1.ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องเอง จึงควรผลักดันคดีให้ถึงที่สุด

2.โดยข้อเท็จจริงของพยานหลักฐานและเหตุการณ์อ้างอิงทั้งหมดว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจริง

3.เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิของ พล.ต.อ.วัชรพล ในฐานะประธานป.ป.ช.ว่าไม่ได้เอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน

4.เพื่อรักษาไว้ซึ่งองค์กรป.ป.ช.ให้มีความน่าเชื่อถือต่อประชาชนว่าไม่มีการแทรกแซงจากอำนาจอื่น
คอลัมน์ : ทางเดียวไม่เลี้ยวไปไหน / หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3288 ระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค.2560

E-BOOK แดง