KBANK ส่งซิก! ควบทีวีดิจิตอล

16 ส.ค. 2560 | 10:31 น.
กสิกรไทย เผยไตรมาส 4 เห็นดีลซื้อกิจการทีวีดิจิตอลระลอกใหม่ หลังมีกลุ่มทุนใหม่-รายเก่าฐานแน่นส่งสัญญาณสนใจเทกโอเวอร์-ควบรวมรายเก่า เหตุประคองธุรกิจไม่ไหว คาดมูลค่าหลักพันล้านบาทด้านวงการสื่อ สารรอเคาะคลื่นใหม่ เตรียมปล่อยกู้ร่วม มั่นใจพอร์ตไม่เกิน 5% ช่วยกระจายความเสี่ยง

นายวัลลภ ว่องจิตต์วุฒิไกร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจหรือกิจการทีวีดิจิตอลมีทิศทางแตกต่างกัน ทั้งในส่วนของช่องที่ยังมีผลกำไร เพราะมีคอนเทนต์ที่ดีมีศักยภาพ หรือมีสายป่านที่ค่อนข้างยาว และช่องที่อยู่ระหว่างประคองให้ธุรกิจเดินได้ หรือช่องที่ไม่ค่อยดีและยังแบกขาดทุนอยู่ ดังนั้น จะเห็นว่ามีลูกค้าที่อยู่ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลและนอกอุตสาหกรรมเข้ามาคุยบ้างและส่งสัญญาณให้ความสนใจที่จะเข้ามาซื้อกิจการที่มีอยู่ของรายเก่าประมาณ 1-2 ช่อง คิดมูลค่าโปรเจ็กต์หลักพันล้านบาท หรือเกิน 5,000 ล้านบาท เพราะการเข้าไปเทกโอเวอร์หรือซื้อกิจการใหม่นั้น ต้องซื้อทั้งสัมปทานและค่าช่องด้วย ทำให้มูลค่าการซื้อขายก็ค่อนข้างสูง

ทั้งนี้คนที่มีความสนใจในธุรกิจทีวีดิจิตอลนั้น มีทั้งจากกลุ่มทุนใหม่และกลุ่มทุนเดิมที่ต้องการเข้ามาซื้อกิจการ (Take Over) หรือเข้ามาควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าของรายเดิมที่ธุรกิจไม่ดีมากนักจะตัดสินใจในทางเลือกใด จะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามา หรือจะแบกขาดทุนต่อไป โดยตอนนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกันอยู่ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังเดือนตุลาคมนี้หรือภายในไตรมาส 4 หลังจากมีความ
ชัดเจนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ ทั้งในส่วนของภาพและเสียง เนื่องจากธนาคารต้องรอดูนโยบายจากคณะกรรมการชุดนี้ว่าจะออกมาในลักษณะใด เพื่อปฏิบัติไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามแนวนโยบายของคณะกรรมการดังกล่าว

อย่างไรก็ดีรูปแบบการปล่อยกู้หรือทำดีลในลักษณะนี้โดยปกติมีอยู่ 3 แบบ คือ การออกหนังสือคํ้าประกัน (L/G) เพื่อนำไปประมูลหรือวางสัญญาคํ้าประกัน การปล่อยสินเชื่อระยะยาว เพื่อลงทุนที่เป็น Physical และหลังจากนั้นจะปล่อยสินเชื่อ ระยะสั้น หรือเงินทุนหมุนเวียน เพื่อใช้เป็นสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการปล่อยกู้หรือใช้วงเงินสินเชื่อในธุรกิจทีวีดิจิตอลหรือแม้แต่ธุรกิจสื่อสารจะมีดีมานด์อย่างต่อเนื่อง เพราะอย่างน้อยต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

ส่วนแนวโน้มธุรกิจการสื่อสารก็เช่นกัน จะต้องรอคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อรอความชัดเจนของนโยบาย อย่างไรก็ดี ธนาคารมองว่ายังมีโอกาสที่จะได้ดีลใหม่ๆ ในไตรมาส 4 เพิ่มเติมในอุตสาหกรรมสื่อสาร ภายหลังจากที่มีการเคาะประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิร์ต เพราะส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด และมีการลงทุนต่อเนื่อง ทำให้มีดีมานด์การใช้วงเงินสินเชื่อต่อเนื่องเช่นกัน โดยส่วนใหญ่หากมีการประมูลหรือเคาะคลื่นใหม่ จะเป็นแนวทางการปล่อยสินเชื่อร่วมกันหลายธนาคาร หรือ Syndicated Loan ดังนั้น จะเห็นโอกาสการปล่อยสินเชื่อดีลใหม่ๆ ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า

[caption id="attachment_131762" align="aligncenter" width="503"] สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

ด้านนายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณารองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงธนาคารจะปล่อยสินเชื่อในแต่ละอุตสาหกรรมเฉลี่ยไม่เกิน 12-15% ส่วนกลุ่มทีวีดิจิตอล และกลุ่มสื่อสาร แม้ว่าจะมีดีมานด์ของสินเชื่อต่อเนื่อง แต่พอร์ตกลุ่มนี้จะน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น โดยเฉลี่ยกลุ่มทีวีดิจิตอลและสื่อสารอยู่ที่ 5% ของยอดสินเชื่อรวมของธุรกิจรายใหญ่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560