SAM เร่งเครื่อง! 'คลินิกแก้หนี้'

17 ส.ค. 2560 | 04:13 น.
บสส.เร่งเครื่อง“คลินิกแก้หนี้” ให้ได้ 18-20% ของลูกหนี้ 1.8 หมื่นรายเดินหน้าประชาสัมพันธ์-ลุยแก้หนี้ 3 พันราย หลังตัวเลขยังอืด เหตุคนขาดความเข้าใจ-กฎหมายยังเป็นอุปสรรค

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัทสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) หรือบสส.เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ปัจจุบันหลังจากเปิดโครงการมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 มีผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อผ่านช่องทางเว็บไซต์และเดินเข้ามาติดต่อที่คลินิกแล้วประมาณ 1.8 หมื่นราย โดยในจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 30-40% ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นที่สามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ แต่มีประมาณ 200-300 ราย ที่มีการลงนามเซ็นสัญญาผ่อนชำระงวดแรกแล้ว และมีอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ระหว่างเจรจา และรอเอกสารเพิ่มเติมจากลูกค้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในเร็วๆนี้ หลังจากได้รับเอกสารครบถ้วน

[caption id="attachment_152598" align="aligncenter" width="437"] นิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ SAM นิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ SAM[/caption]

ขณะที่ลูกค้าอีกประมาณ 60-70% ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ (Reject) นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากลูกหนี้ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คือ จะต้องไม่ชำระหนี้เลยติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน และต้องเป็นหนี้ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 แต่ลูกค้าที่เข้ามาบางรายยังไม่เป็นเอ็นพีแอล จึงไม่สามารถเข้าโครงการได้

นอกจากนี้มีลูกหนี้บางส่วนภายหลังจากการพิจารณามูลหนี้กับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้หลังเข้าโครงการแล้ว จะเห็นว่าหากไม่สามารถผ่อนชำระได้ไหว บสส.อาจจะต้องขอให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ไปลดหนี้ส่วนอื่นก่อนจะเข้าโครงการ เพราะถ้าเข้าโครงการโดยที่ความสามารถในการชำระหนี้ค่อนข้างปริ่ม หรือเหลือกระแสเงินสดไม่เพียงพอ จะยิ่งเป็นการกดดันให้ลูกหนี้มีปัญหามากยิ่งขึ้น

คลินิกแก้หนี้พบว่าลูกหนี้บางส่วนเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลที่เกิดจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่บริษัทจะเข้าไปบริหารจัดการหนี้ในส่วนนี้ได้ ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังไม่สามารถเข้าโครงการได้ ซึ่งเท่าที่เห็นมีจำนวนมากพอสมควร

ดังนั้นหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้บสส.จัดการหนี้กลุ่มนอนแบงก์ได้ เชื่อว่าจะมีลูกหนี้เข้าโครงการจำนวนมาก และจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้แก้ไขปัญหาหนี้ได้
อีกจำนวนมาก ทั้งนี้คาดว่าธปท.กำลังอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอยู่น่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าลูกหนี้ที่เข้ามาติดต่อมีจำนวนเพียง 1.8 หมื่นราย ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่บสส.ยังคงตั้งเป้าหมายบริหารและแก้ไขหนี้ให้ลูกหนี้สามารถลงนามสัญญาได้อยู่ที่ 18-20% จากลูกหนี้ที่เข้ามาติดต่อเข้าโครงการ 1.8 หมื่นราย หรือคิดเป็นประมาณ 3,000 ราย ภายในสิ้นปีนี้ โดยมูลหนี้เฉลี่ยอยู่ที่รายละ 3 แสนบาท

ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเข้าใจและเข้าถึงข้อมูลโครงการคลินิกแก้หนี้มากขึ้น บสส.ได้ขอความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารสมาชิกในการประชา สัมพันธ์โครงการผ่านเว็บไซต์ธนาคาร และออกแผ่นพับ เดินสายทำตลาดโดยตรง รวมถึงการแจ้งข้อมูลผ่านสเตรตเมนต์ของธนาคารต่างๆ คาดว่าจะช่วยสร้างความเข้าใจในโครงการและสื่อสารถึงลูกหนี้ที่อยากจะเข้าโครงการให้เข้ามาติดต่อแก้ไขหนี้มากขึ้น

“จำนวนที่เข้ามาติดต่อมีผ่านคุณสมบัติไม่ถึง 50% เพราะลูกค้ายังไม่เข้าใจ หรือลูกค้าที่เข้าใจแต่ดันเป็นหนี้นอนแบงก์ ซึ่งก็ทำให้เข้าโครงการไม่ได้ คาดว่าหลังจากธปท.แก้ไขกฎหมาย และลูกค้าเข้าใจมากขึ้นจะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาหนี้ได้มากขึ้น”

[caption id="attachment_185523" align="aligncenter" width="402"] นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย[/caption]

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้จะพบว่าโครงการคลินิกแก้หนี้มีลูกหนี้ให้ความสนใจค่อนข้างมาก โดยตัวเลขล่าสุดมีประมาณ 3.9 หมื่นราย แต่มีลูกหนี้ที่สามารถเซ็นสัญญาลงนามแก้ไขหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้ได้เพียง 102 ราย และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินการต่อไปอีกประมาณ 221 ราย ซึ่งเห็นว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยในแง่ของกฎหมายที่บสส.ไม่สามารถจัดการหนี้ของนอนแบงก์ได้ ดังนั้นธปท.จึงกำลังเร่งแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมให้บสส.สามารถเข้าไปบริหารจัดการหนี้นอนแบงก์ได้

“โครงการคลินิกแก้หนี้แม้จะมีคนสนใจเยอะล่าสุด 3.9 หมื่นราย แต่มีลูกหนี้ที่ลงนามแก้ไขหนี้จริงค่อนข้างน้อยมีเพียงแค่กว่า100 ราย เราจึงเร่งแก้ไขกฎหมายอยู่ให้บสส.ครอบคลุมถึงหนี้นอนแบงก์ด้วยรวมถึงเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประ ชาชนรับทราบ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560