ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึงจุดนี้ ได้อย่างไร

17 ส.ค. 2560 | 05:43 น.
สังคมวันนี้เหมือนมีเสียงนับถอยหลัง สู่วันที่ 25 สิงหาคม วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษา กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาปล่อยปละละเลยจากการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวระหว่างปี 2554-2556

ยิ่งลักษณ์ นับเป็นอดีตนายกฯที่เผชิญวิบากกรรมทางการเมืองมากลำดับต้นๆ เทียบเคียงได้กับ อดีตนายกฯทักษิณ พี่ชาย นับจากเธอ ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษา ให้พ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ตามด้วยรัฐบาลถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยึดอำนาจ จากนั้นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนและตัดสิทธิ์เล่นการเมือง 5 ปี ฯลฯ

MP25-3288-1A หากพิเคราะห์เหตุที่มาแห่งวิบากกรรมทางการเมืองของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์แล้ว น่าจะประกอบด้วยกันอยู่ 3 ประการหลักคือ 1. การท้าทายอำนาจเดิม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมื่อครั้งอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไปปาฐกถาที่ อูลันบาตอ มองโกลเลีย ในการประชุมประชาคม ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 ตอนหนึ่งเธอกล่าวว่า “มีความชัดเจนว่า ผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตย ยังคงอยู่ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหาร ได้ใส่กลไก
ตีกรอบเพื่อจำกัดความเป็นประชาธิปไตย” แม้เป็นที่ทราบกันว่าปาฐกถาดังกล่าวมาจากบทที่เขียนโดยคนรอบตัว แต่การกล่าวโจมตีรัฐธรรมนูญบนเวทีต่างประเทศ ซึ่งเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เท่ากับโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่ง ชาติ (คมช.) ที่ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณในปี 2549 นั่นเอง และท่าทีดังกล่าว ยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาต้านในวงกว้าง เช่น การรวมตัวตั้งกลุ่มไทยสปริงขึ้นมาต้านแต่เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ กระทั่งมีการเคลื่อนไหวผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยพรรคเพื่อไทยกระแสต้านจึงรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่มีพลังมวลชนมหาศาล

2. ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หรือมีชื่อเป็นทางการว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ของประชาชน ซึ่งได้สมญาว่า กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ที่เสนอโดย วรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ไฮไลต์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่มีเพียง 7 มาตราคือ มาตรา 3 ที่ระบุว่า “มาตรา 3 ให้บรรดาการ กระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุนผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112”

MP25-3288-2A นอกจากเนื้อหาของร่างกฎหมายที่เป็นการนิรโทษแบบ “เหมาเข่ง” ที่หลายฝ่ายรับไม่ได้แล้วการที่อดีตนายกฯทักษิณจะได้รับประโยชน์เป็นลำดับต้นๆ ได้สร้างความกังขาให้กับสังคม อีกทั้งการที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลที่กุมเสียงข้างมากในสภา ผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 และใช้เวลาพิจารณากว่า 19 ชั่วโมงจนผ่าน 3 วาระรวดตอน ตีสี่ ยี่สิบห้านาที ของเช้ามืดวันที่ 1 พฤศจิกายน ได้ปลุกกระแสต้านรัฐบาลที่ฝ่อไปหลังม็อบสนามม้ามาแบบวันเดียวจบ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศระดมมวลชน 1 ล้านคนต้านระบอบทักษิณ กระแสการประท้วงบนถนนยาวนานกว่า 6 เดือน จบลงด้วยการปรากฏตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นำคสช. ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2557

ประการที่ 3 แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปิดฉากแล้วแต่วิบากกรรมของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ยังไม่จบ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ที่ประกาศรับ “จำนำ” ข้าวเปลือกราคาเกวียนละ 15,000 บาท (ความชื้นตามกำหนด) ที่ดำเนินการระหว่างปี 2554-2556 (รวม 3 ฤดูกาล) ส่งผลให้ข้าวเปลือกมาอยู่ในมือรัฐบาลมากกว่า 18 ล้านตัน เพราะไม่มีชาวนามาไถ่ถอนเนื่องจากราคารับจำนำสูงกว่าราคาขายในตลาด สต๊อกที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการประกาศเดินหน้าโครงการต่อ สร้างความกังวลต่อการใช้งบประมาณ และผลขาดทุนที่จะเกิดจากกองสต๊อกข้าวมหึมา พร้อมกับข่าวคราวการทุจริต

เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เข้ากุมอำนาจรัฐ งานลำดับแรกๆ ที่รัฐบาลทหารทำคือ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวขึ้นมาหลายชุด ก่อนจะมีข้อสรุปว่าโครงการสร้างความเสียหายกว่า 1.76 แสนล้านบาท และรัฐบาลมีคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ พร้อมกับดำเนินคดีข้อหาปล่อยปละละเลยในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้

หากย้อนกลับไปพิจารณาปัจจัยทั้งสามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นไปได้ว่า หากยิ่งลักษณ์ไม่เล่นบทแข็งกร้าวท้าทายกลุ่มอำนาจเดิม ตามบทที่บรรดาลมใต้ปีกทั้งหลายกำกับ พรรคเพื่อไทยไม่ผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษฉบับเหมาเข่ง และยิ่งลักษณ์ปรับรูปแบบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกอย่างที่คิดจะทำหลังผ่านฤดูกาลเพาะปลูกรอบแรก ชะตากรรมการเมืองของ ยิ่งลักษณ์ นายกฯหญิงคนแรกของไทยที่ยืนกรานมาตลอดว่า “ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด” คงไม่เดินมาถึงจุดนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560