มหาชัยร้างต่างด้าวไม่กลับ ล้งชี้ภาระเพิ่มหัวละ2หมื่น-วัตถุดิบไม่มี เล็งเลิกกิจการ

19 ส.ค. 2560 | 07:14 น.
มหาชัยสะเทือน แรงงานไปแล้วไม่กลับ ยอดลงทะเบียนตํ่ากว่าเป้าอื้อ แค่ 2.8 หมื่นคน “ล้ง” ชี้ขึ้นทะเบียนภาระเพิ่มหัวละ 2 หมื่น วัตถุดิบมีน้อย เล็งเลิกกิจการ

นายสมชาย อัครธรรมกุล จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการเปิดศูนย์รับแจ้งการใช้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ระหว่างวันที่ 24 กรกฎาคม-7 สิงหาคม 2560 ซึ่งเปิดให้ยื่นแจ้งเฉพาะแรงงานต่างด้าวกลุ่มผิดกฎหมาย ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงตน ไม่มีบัตรสีชมพู หรือมีแต่หมดอายุแล้ว 100 ศูนย์ทั่วประเทศ นั้น ปรากฏว่าสรุปยอดรับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว จังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวมาแจ้งลงทะเบียน 28,813 ราย (ตํ่ากว่ายอดที่ประเมินล่วงหน้าไว้อยู่ที่ประมาณ 35,000 ราย) แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 22,848 คน สัญชาติลาว 2,671 คน และสัญชาติกัมพูชา 3,294 คน ขณะที่ยอดรวมผู้มาแจ้งลงทะเบียนทั่วประเทศ 772,270 ราย

นายสมชายกล่าวต่อว่า สาเหตุที่มีแรงงานต่างด้าวมาแจ้งลงทะเบียนไม่มากนัก อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่หรือ 1 ใน 3 ของจังหวัดสมุทรสาคร เป็นแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์นํ้า ซึ่งก็ได้มีการเปิดให้มีการจดทะเบียนฯ-ต่ออายุใบอนุญาตฯมาตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 เป็นจำนวนหลายครั้งและหลายเดือน ทั้งยังมีการตรวจสอบแรงงาน ที่ใช้ในโรงงานขนาดใหญ่และในกิจการประมงทะเลอย่างเข้มงวดมาตลอด จึงไม่น่าจะมีแรงงานผิดกฎหมายอยู่อีกมากนัก

“แรงงานที่มาแจ้งลงทะเบียนมาจากนายจ้างประมาณ 5,000 กว่าราย รายหนึ่งแจ้งลง ทะเบียนลูกจ้างฯ ประมาณ 4-5 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มที่มาแจ้งมากที่สุดก็คือ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโลหะ กิจการรับเหมาก่อสร้าง อุตสาหกรรมพลาสติก และคนใช้-คนทำงานในบ้าน ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้น่าจะตอบโจทย์ได้ในเรื่องสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน และทำให้ทราบจำนวนคนงานต่างด้าวที่จำเป็นต้องใช้งานจริงในจังหวัดสมุทรสาคร ตามที่มียอดซึ่งขึ้นทะเบียนไว้แล้วกว่า 2.6 แสนคน รวมกับที่มาแจ้งครั้งล่าสุด น่าจะมีจำนวนแรงงานรวม

ทั้งสิ้น 2.9 แสนคน แรงงานต่างด้าวที่มีอยู่นอกจากนี้ น่าจะเป็นพวกแรงงานฯ ที่ไม่มีนายจ้าง หรือที่ลักลอบทำงานอิสระ ซึ่งทางราชการจะต้องดำเนินการจัดระเบียบกันต่อไป”

MP24-3288-A ทางด้านนายอาคม เครือวัลย์ ประธานชมรมผู้ซื้อและชมรมแปรรูปอาหารทะเล จังหวัดสมุทรสาคร ได้เปิดเผยว่า ปัญหาการแจ้งลงทะเบียนลูกจ้างครั้งนี้ อาจจะเกิดจากกรณีที่ลูกจ้างเดินทางกลับประเทศแล้วยังไม่กลับมา รวมถึงโรงงานหรือผู้ประกอบการบางรายได้หยุดกิจการ ทั้งกิจการประมงก็อยู่ในสภาพหยุดดำเนินการ ล้งต่างๆ หรือโรงงานแปรรูปสัตว์นํ้าก็มีวัตถุดิบน้อยลง ทำให้ต้องลดจำนวนการใช้แรง งานฯให้น้อยลง เช่น กิจการของตนเองที่เคยใช้แรงงานกว่า 100 คน ก็ลดเหลือเพียง 30-40 คน

“ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนลูกจ้างต่างด้าวทั้งกระบวนการ (รวมค่ารถ-ค่าเดินทาง) สูงเกือบ 2 หมื่นบาทต่อราย ทั้งแรงงานก็หายาก ผู้ประกอบการล้งเองก็มีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมากจากความเข้มงวดของทางราชการ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการทำ MOU ถ้ามีลูกจ้างเป็นสิบคนขึ้นไป นายจ้างก็ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้หลายแสนบาท ประกอบกับปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ที่อยู่ในสภาพยํ่าแย่ ผู้ประกอบการจึงเกิดความท้อแท้ และจำต้องหยุดกิจการกัน ซึ่งก็ทำให้มีการจ้างงานลดลงไปด้วย”

ทางด้านนายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ได้เปิดเผยว่า “การลงทะเบียนลูกจ้างครั้งนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนเพราะมีแรงงานฯ เข้ามาในระบบได้ไม่มาก ทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องระบบนายหน้าหรือโปรกเกอร์ต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการทุจริต ระบบส่วย ทั้งนี้เพราะหากยังมีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน แต่เมื่อมีคนต่างด้าวอีกมากที่เข้ามาในระบบไม่ได้ การจ้างงานแบบเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใต้ดิน
จากทางเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ยังคงมีอยู่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560