ทุน FDI ทะลักเมียนมาไม่หยุด ครึ่งปีแรกเม็ดเงินทะลุ3พันล้านดอลล์-จีนครองที่หนึ่ง

19 ส.ค. 2560 | 13:42 น.
เมียนมายังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มทุนนานาประเทศ โดยปัจจุบันประเทศที่มีการลงทุนเป็นอันดับ 1 ในเมียนมา ยังคงเป็นจีน ตามมาด้วยสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์และเกาหลีใต้

สถิติ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 ชี้ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเมียนมามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,100 
ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 103,540 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 33.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) จากโครงการลงทุน 95 โครงการซึ่งมาจาก 20 ประเทศทั่วโลก มูลค่าดังกล่าวเป็นการลงทุน FDI รวมในระยะตั้งแต่เดือนเมษายนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็น 4 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (2560-2561) ของเมียนมา โครงการเหล่านี้สร้างการจ้างงานให้กับคนท้องถิ่นมากกว่า 30,000 ตำแหน่งงาน

จีนยังคงครองตำแหน่งประเทศผู้ลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในเมียนมา ครองส่วนแบ่งตลาด 26% (ของเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด) ตามมาด้วยสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมภาคการผลิต อุตสาหกรรมก่อสร้าง การขนส่ง และโทรคมนาคม ส่วนพื้นที่ที่นักลงทุนสนใจเข้าไปมากที่สุด ปัจจุบันยังคงเป็นเมืองย่างกุ้ง ศูนย์กลางธุรกิจและเมืองหลวงเก่า ตามมาด้วยอันดับ 2 และ 3 คือเมือง มัณฑะเลย์ และพะโค (อดีตคือเมืองหงสาวดี)

เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนและส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติในระดับตํ่า รัฐบาลเมียนมาได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการของแต่ละรัฐและเขตการปกครองขึ้นมา โดยมอบอำนาจให้สามารถพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนที่มีขนาดมูลค่าโครงการไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯได้ นอกจากนี้ ยังมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการสามารถพิจารณายกเว้นภาษีและอนุมัติการใช้ที่ดินเพื่อดึงดูดโครงการลงทุนของต่างชาติอีกด้วย รัฐบาลท้องถิ่นในหลายพื้นที่ยังสามารถเจรจาโดยตรงกับกลุ่มทุนต่างชาติเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นในพื้นที่

TP21-3288-1 คณะกรรมาธิการการลงทุนแห่งเมียนมา หรือ เอ็มไอซี (Myanmar Investment Commission) เปิดเผยว่า เมียนมาให้ความสำคัญกับการลงทุน FDI และให้ความคุ้มครองรวมทั้งปฏิบัติต่อผู้ลงทุนต่างชาติตามแนวทางปฏิบัติของธนาคารโลก โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (2559) กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ของเมียนมามีผลบังคับใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ลงทุนต่างชาติและผู้ลงทุนท้องถิ่นของเมียนมาเอง จะได้รับการปฏิบัติภายใต้กฎหมายการลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน ผู้ลงทุนที่ประสบปัญหายังได้รับสิทธิ์ในการที่จะร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐด้วย ทั้งนี้ เอ็มไอซีมุ่งส่งเสริมการลงทุนใน 10 แขนงอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การเกษตร การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า การส่งออก การนำเข้า การผลิตกระแสไฟฟ้า การขนส่ง การศึกษา การแพทย์ และการก่อสร้างบ้านพักอาศัยราคาถูก

ตลอดทั้งงบประมาณปี 2560-2561 นี้ (ซึ่งจะสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนมีนาคมปีหน้า) รัฐบาลเมียนมาตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงของต่างชาติไว้ที่กว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณก็นับว่ามาได้กว่าครึ่งหนึ่งของเป้าหมายแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560