รถไฟทางคู่ หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์เปิดเส้นทางโลจิสติกส์สู่ภาคใต้

19 ส.ค. 2560 | 13:37 น.
ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน -ประจวบคีรีขันธ์ ไปเรียบร้อยแล้วภายหลังจากที่เปิดรับยื่นซองเอกสารประกวดราคาปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้ายื่นซองจำนวน 13 รายนั้นมีราคากลางที่ 7,305 ล้านบาท จากกรอบวงเงินทั้งโครงการราว 1.3 ล้านล้านบาทขณะนี้ได้ตัวผู้รับจ้างเรียบร้อยแล้วแต่ยังมีลุ้นว่าจะสามารถลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นี้ได้หรือไม่เนื่องจากต้องรอลุ้นผลศึกษาด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณา

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ นั้นประกอบด้วยงานประเภทต่างๆ ดังนี้ (1) การก่อสร้างทางวิ่งรถไฟในโครงการ เป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทางที่จะทำการก่อสร้างทางรถไฟ 1 ทางคู่ขนานไปกับทางรถไฟเดิม ระยะทางรวมประมาณ 84 กิโลเมตร โดยโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางวิ่งระดับพื้นทั้งหมด มีสะพานรถไฟจำนวน 82 สะพาน (2) งานก่อสร้างสถานีรถไฟระดับพื้น 12 สถานี และป้ายหยุดรถ 2 แห่ง (3) งานก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า (CY) กำหนดไว้ 2 แห่ง ได้แก่ สถานีสามร้อยยอด และสถานีทุ่งมะเม่า (4) งานก่อสร้างโยธาและอื่นๆ ของโครงการ เช่นงานระบบระบายนํ้า สะพานลอยคนเดินข้าม งานรั้ว (5) งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ (Flyover) ถนนกลับรถยกระดับรูปตัวยู (Overpass U-Turn) ถนนลอดใต้สะพานทางรถไฟ (Underpass) ถนนลอดใต้สะพานทางรถไฟโดยใช้ท่อเหลี่ยม (Underpass Box) เพื่อแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับทางรถไฟ (6) งานระบบรางเป็นทางกว้าง 1 เมตร (Meter Gauge) และ (7) งานรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและอุปสรรคต่างๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการ (ถ้ามี) โดยผู้รับจ้างต้องดำเนินการรื้อย้าย ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแต่กรณี

TP12-3288-B ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งจะเป็นช่วงการเชื่อมรอยต่อระหว่างช่วงนครปฐม-หัวหิน กับช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ให้สามารถเติมเต็มครบทั้งเส้นทางมากขึ้นช่วยให้การเดินทางและขนส่งสินค้าป้อนสู่ภาคใต้และสินค้าขาขึ้นจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานครและไปยังภาคต่างๆได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น

ดังนั้นหากช่วงหัวหิน-ประจวบ คีรีขันธ์ดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุทางได้มากขึ้น ลดระยะเวลา และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิ ภาพของการขนส่งสาธารณะ ทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางให้มากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560