ล็อกซเล่ย์ลุยซ่อมสีรถ ดึง‘คาร์คอน’ญี่ปุ่นเปิดศูนย์ตั้งเป้า100สาขา ‘เอสแบรนด์’ยังนิ่ง

19 ส.ค. 2560 | 10:41 น.
“ล็อกซเล่ย์”เดินหน้าทำตลาดแบรนด์ “คาร์คอน” ศูนย์ซ่อมสีและตัวถังแบบรวดเร็ว หลังลูกค้าแห่ขอแฟรนไชส์เพียบ มั่นใจภายใน 5 ปีขยาย 100 สาขาตามเป้าหมายด้าน“เอสแบรนด์” ในกลุ่มสยามกลการ ขยับไม่ได้ตามเป้า ขอเวลาศึกษาก่อนเพิ่มสาขา 3

นายณัฐพล เดชวิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์คอนวินี่ จำกัด ผู้ให้บริการธุรกิจด้านการซ่อมสีและตัวถังรถยนต์แบบรวดเร็วภายใต้แบรนด์ “คาร์คอน” ในเครือล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจซ่อมสีและตัวถังในประเทศไทยยังมีช่องว่างให้เจาะอีกเยอะ ยิ่งดูจำนวนรถในประเทศไทยพบว่ามีกว่า 15 ล้านคัน ซึ่งอู่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอเฉพาะศูนย์ของตัวแทนจำหน่ายแต่ละรายเมื่อลูกค้านำรถเข้าไปก็ต้องรอนาน ตรงจุดนี้ทำให้ล็อกซเล่ย์เห็นโอกาสทางการตลาด และตัดสินใจที่จะเข้ามารุกธุรกิจนี้ ส่วนสาเหตุที่เลือกแบรนด์ “คาร์คอน” เข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากเป็นเบอร์ 1 ในประเทศญี่ปุ่นและมีจำนวนสาขากว่า 1,000 แห่ง

สำหรับคาร์คอน ในประเทศไทยเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2559 มีสาขาต้นแบบตั้งอยู่บนถนนพระราม 3 โดยมีการลงทุนกว่า 30 ล้านบาท และให้บริการซ่อมสีและตัวถังรถยนต์แบบรวดเร็ว รองรับรถทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ส่วนราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ 2,000 บาท สำหรับรอยเล็ก

ขณะที่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ ลูกค้าประกันภัยจาก 6 บริษัทคิดเป็นสัดส่วน 70% และลูกค้าทั่วไป ที่นำรถเข้ามาใช้บริการ 30% คาดว่าในอนาคตสัดส่วนของลูกค้าปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นเป็น 40%

นายณัฐพล กล่าวว่า รูปแบบการบริหารของคาร์คอน จะเป็นลักษณะแฟรนไชส์ มีการลงทุนตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท โดยผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับระบบซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการศูนย์,
วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ “คาร์คอน” เป็นเจ้าของสิทธิบัตร ,การฝึกอบรมด้านการซ่อมแบบเฉพาะของคาร์คอนให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์ ,ทีมช่างเทคนิคมาตรฐานเดียวกับญี่ปุ่นเข้ามาซัพพอร์ตในช่วงแรก และกิจกรรมสนับสนุนทางด้านการตลาด

ส่วนแฟรนไซซ์จะแบ่งออกเป็น 3 ไซซ์ ได้แก่ ขนาดเล็ก หรือ ไซซ์ S ใช้พื้นที่ประมาณ 100 ตารางเมตร มี 2 ช่องซ่อม ,ขนาดกลาง หรือ ไซซ์ M ใช้พื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร มี 6 ช่องซ่อม และไซซ์ L หรือขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตร และมีช่องซ่อมจำนวน 8 ช่องซ่อม โดยระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 3 ปี และระยะสัญญาแฟรนไซซ์ 9 ปี ขณะที่กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ที่อยู่ในธุรกิจอู่รถยนต์-ดีลเลอร์, นักลงทุนรายใหม่ที่มีความพร้อมด้านเงินลงทุน

mp36-3288-1 โดยสาขาแฟรนไชส์แห่งแรกที่เพิ่งเปิด ได้แก่ บริษัท เอสซีจีออโต้เซอร์วิส จำกัด โดยใช้ชื่อสาขา “คาร์ คอน วิภาวดี 36” บนพื้นที่กว่า 500 ตารางเมตร ส่วนแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ย่านลำลูกกา เป็นขนาดกลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 300 ตารางเมตร และภายในสิ้นปีนี้จะขยายแฟรนไชส์เพิ่มอีก 2 แห่งได้แก่ สะพานใหม่ ,ชลบุรี และสาขาที่เปิดโดยบริษัทแม่อีก 1 แห่ง

ส่วนเป้าหมายในปี 2561 จะขยายเพิ่มอีก 10 แห่ง และภายใน 5 ปีจะขยายเพิ่มเป็น 80 -100 แห่ง ซึ่งในจำนวนนั้นจะเป็นของบริษัทแม่จำนวนไม่เกิน 4 สาขา

ขณะที่การทำตลาดนั้น บริษัทแม่วางงบประมาณราว 8-10 ล้านบาท โดยเน้นการสื่อสารทั้งแบบออฟไลน์ และออนไลน์ให้ลูกค้าได้รู้จักคาร์คอน และสร้างแบรนด์ อะแวร์เนส เช่นเดียวกับการทำโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ ซึ่งบริษัทคาดหวังว่าลูกค้าที่ได้ใช้บริการจะมีการบอกต่อแบบปากต่อปาก

ด้านเป้าหมายรายได้ ในเบื้องต้นจากศูนย์ต้นแบบตั้งไว้ที่ 50 ล้านบาท และในระยะยาวรายได้จะมาจากการขายแฟรนไชส์ ซึ่งจะขยายออกไปทั้งในและต่างประเทศ หากขยายตามเป้าที่วางไว้ ก็จะทำได้ 60-80 ล้านบาท

นอกจากคาร์คอนแล้ว ยังมีกลุ่มธุรกิจที่ครํ่าหวอดในวงการยานยนต์อย่าง สยามกลการที่เข้ามารุกธุรกิจนี้ ภายใต้ชื่อ “เอสแบรนด์” SBRAND ที่เปิดให้บริการเข้าสู่ปีที่ 5 โดยมีสาขา 2 แห่งได้แก่ ปทุมวัน ,ศรีนครินทร์ ซึ่งตามแผนงานที่เคยประกาศไว้จะมีการขยายสาขาและขายแฟรนไซซ์ แต่เนื่องจากติดข้อจำกัดเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ของกระทรวงอุตสาห กรรม ที่มีเงื่อนไขกฎเกณฑ์ประกอบกับนโยบายผังเมืองที่เปลี่ยนไป ดังนั้นการจะเปิดอู่ซ่อมสีใหม่จึงทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต้องมีการปรับกลยุทธ์การรุกตลาด อย่างไรก็ดีเร็วๆนี้เอสแบรนด์ยืนยันว่ากำลังพิจารณาการขยายสาขาแห่งที่ 3

ขณะที่รูปแบบการให้บริการเน้นซ่อมสีและตัวถังแบบเร็ว ใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น โดยชูจุดเด่นคือ ซ่อมสีและตัวถังโดยใช้เวลาเร็วสุดไม่เกิน 60 นาที ผ่านเทคโนโลยี microREPAIR&Flash System นอกจากนั้นยังเพิ่มบริการเคลือบสี โดยใช้เทคโนโลยีจากญีปุ่น ,สหรัฐอเมริกา และ ไทย ที่มีการพัฒนาร่วมกัน

เรียกว่าเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโต เมื่อเทียบกับรถที่วิ่งกันเต็มถนน รวมถึงจำนวนรถใหม่ที่เตรียมคลอดออกมาในตลาดอีก 8-9 แสนคันต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560