‘วิกฤติเกาหลีเหนือ’ใครได้ประโยชน์

16 ส.ค. 2560 | 05:37 น.
TP20-3288-1c ประเด็นความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ต่อกรณีที่เกาหลีเหนือขู่จะยิงมิสไซล์สถล่มเกาะกวม ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก ทำเอาหลายๆฝ่ายกำลังวิตกกังวลว่า สงครามเกาหลีเหนือจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเป็นหนึ่งในประเด็นที่นักลงทุนในวอลล์สตรีตเริ่มที่จะมีปฏิกิริยาบ้าง อย่างน้อยก็ในตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงิน โดยในขณะที่ผมเขียนต้นฉบับอยู่นี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็อ่อนตัวลงอีก 0.2% ต่อเนื่องจากวันก่อนหน้าที่ลดลงมาแล้ว 0.7% ทำให้เมื่อเทียบกับเงินเยนก็อ่อนลงไปอยู่ที่ 108.96 เยนต่อดอลลาร์

และเช่นเดียวกันครับ เงินเยนในช่วงนี้ก็จะแข็งค่าสวนทางขึ้นมา เพราะเงินเยนคือสินทรัพย์ที่กำลังถูกมองว่ามีความปลอดภัยมากกว่ามาแล้วระยะหนึ่ง

แต่ถ้าถามถึงผลกระทบในแง่ความวิตกกังวลต่อปัญหาเกาหลีเหนือต่อตลาดทุน และต่อเศรษฐกิจโลกนั้น ก็ต้องบอกว่าในขณะนี้ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก มีแค่ความวิตกกังวลเท่านั้น และโดยส่วนตัวก็เชื่อว่า สงครามระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือนั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก แม้ว่าจะมีโอกาสบ้างก็ตาม

TP20-3288-3 ต้องเรียนกันก่อนว่า สถานะ ของสงครามคาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบันนั้น ยังถือว่าทั้งเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ยังอยู่ภายใต้ภาวะสงครามกันอยู่ เนื่อง จากสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1953 นั้น ทั้ง 2 ฝั่งไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่จะนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามอย่างถาวร แต่เป็นเพียงการทำข้อ ตกลงหยุดยิงเท่านั้น ดังนั้น สงครามคาบสมุทรเกาหลี จึงจะสามารถระเบิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

แต่ถ้าหากพิจารณาในมิติต่างๆ แล้วจะเห็นได้ว่า สงครามนี้ น่าจะเกิดยากมากในภาวะปัจจุบันเพราะ

ประเด็นแรก ก็คือ เกาหลี เหนือ กำลังถูกนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯใช้เป็นวาระเพื่อเบี่ยงประเด็นปัญหาการเมืองภายในประเทศของเขาเอง จากกรณีที่ทีมหาเสียงของทรัมป์และตัวเขานั้นกำลังถูกจับตาอย่างมาก ว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับรัสเซีย จนทำให้รัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปลายปีที่แล้ว และทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งไป

ประเด็นที่ 2 ก็คือ ในสภาวะปัจจุบันนั้น ทั้งจีน และญี่ปุ่น ไม่น่ากล้าเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะสงคราม โดยเฉพาะจีน ถ้าหากให้เกิดศึกสงครามขึ้นในเอเชียตะวันออก สถานการณ์ก็อาจจะลุกลามไปยังข้อพิพาทอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับจีนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้อพิพาทเกาะเตียวหยูระหว่างจีนกับญี่ปุ่น รวมไปถึงข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อีกด้วย

ประเด็นที่ 3 ก็คือ สหรัฐฯอาจจะได้ประโยชน์จากการปลุกเร้าให้สถานการณ์เกาหลีเหนือดูน่ากลัวขึ้น จะเห็นได้ว่า เงินดอล ลาร์สหรัฐฯอ่อนตัวลง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสินค้าและบริการของอเมริกาด้วยเช่นกัน ที่จะทำให้มีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น

TP20-3288-4 ประเด็นที่ 4 ก็คือ สหรัฐฯภายใต้การบริหารงานของโดนัลด์ทรัมป์ นี่เอง ที่เป็นรัฐบาลชุดแรกในรอบหลายปีที่ประกาศลั่นจะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมขึ้น 10% ด้วยเหตุผลลึกๆ ก็คือ กระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่าลืมว่า สหรัฐฯคือพ่อค้าขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งไทยเองก็เพิ่งจะเป็นลูกค้ารายล่าสุด เมื่อสหรัฐฯอนุมัติขายขีปนาวุธรุ่น RGM-84L ให้กับไทยไปแล้วมูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์ หรือกว่าๆ 800 ล้านบาทครับ สหรัฐฯกำลังปลุกเร้ากระแสวิกฤติเกาหลีเหนือขึ้นมา แต่ไม่น่าจะกล้าถึงขนาดก่อสงครามครับ

ประเด็นสุดท้ายก็คือ เกาหลีเหนือ ไม่ใช่อิรัก ที่ตั้งของเกาหลีเหนือ เป็นจุดรวมของบรรดา มหาอำนาจ ทั้งจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น หากสงครามระเบิดขึ้นมาก็จะเละขนาดไหน ทะเลบริเวณนั้นเต็มไปด้วยเรือดำนํ้าของทั้งจีน และรัสเซีย ซึ่งรัสเซียไม่ยอมแน่ๆ ครับ

วิกฤติเกาหลีเหนือถูกปลุกเร้าขึ้นมา สหรัฐฯเองก็ได้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะกลบกระแสวิกฤติการเมืองของทรัมป์ เงินดอลลาร์ก็อ่อนลง กระแสของสงครามทำให้เกิดการสะสมอาวุธกันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีต่อพ่อค้าอาวุธอย่างสหรัฐอเมริกา

และก็อาจจะดีต่อพ่อค้าอาวุธอย่างจีน และรัสเซียด้วย ก็ถือว่าวินวิน กันไปทั้งหมดครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560