‘นิพนธ์’ ชำแหละ ‘จำนำข้าว’ เสียหายสูงผิดคาด (1)

18 ส.ค. 2560 | 07:41 น.
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในนักวิชาการที่ส่งเสียงสะท้อนให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบถึงปัญหาโครงการรับจำนำข้าว จากตอนนั้นถึงตอนนี้ข้อคัดค้านเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ รศ.ดร.นิพนธ์ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ บากบั่น บุญเลิศ บรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ในรายการ “ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ดิจิตอล สปริงนิวส์ ช่อง 19

**จำนำข้าวเสียหายสูงผิดคาด
“ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามนั้น แต่ปรากฏว่า เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฎออกมาตอนหลัง ความเสียหายที่ผมประมาณการไว้ยังตํ่ากว่าความเป็นจริง ซึ่งผมคาดการณ์ความเสียหายไว้ประมาณกว่า 500,000 ล้าน แต่ตัวเลขที่ขาดทุนที่ทางรัฐบาลปิดบัญชีไปเมื่อสิ้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว อยู่ที่ 607,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มีอีกส่วนหนึ่งที่ผมไม่ได้ประมาณการไว้ คือ ส่วนที่มีโกงการส่งข้าวเข้าโกดัง อาทิ ส่งข้าวผิดชนิด บอกว่า ส่งข้าวหอม แต่ของจริงกลับไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ เอาข้าวราคาถูกไปแจ้ง เอาข้าวเหนียว เอาปลายข้าวมาแทน เอาข้าวมาตรฐานตํ่า กินไม่ได้ไปส่ง

รวมถึงการที่มีข้าวหายไปบางส่วน ซึ่งตัวเลขประมาณการนี้ตอนหลังผมมาคำนวณประมาณ 60,000 ล้านบาท ขาดไป 60,000 ล้าน แต่เข้าใจว่า ทางนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท.ให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า ตกอยู่ที่ประมาณ 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนที่ผมไม่เคยศึกษาและคำนวณเอาไว้ ไม่ทราบว่าจะมากมายขนาดนั้น ตอนนั้นยังเชื่อว่าข้าวส่วนใหญ่ที่เข้าโกดังนั้น น่าจะเป็นข้าวที่เป็นไปตามที่เกษตรกรมาจำนำไว้ คือ ตรงไปตรงมา อันนี้ คือสิ่งที่ไม่ได้คาด แต่ส่วนอื่นก็เป็น ไปตามที่คาด” รศ.ดร.นิพนธ์ ระบุ

**ขายข้าวให้พรรคพวกตัวเอง
สำหรับความเสียหายที่คาดการณ์ไว้ตอนนั้นมาจากการขาดทุน ซึ่งมาจากการจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาด ซึ่งเกษตรกรได้ไป ตรงนี้เราไม่เสียดาย แต่ว่ามีการขายข้าว ไม่ว่าจะเป็นจีทูจี หรือการขายข้าวให้กับพรรคพวกตัวเองไม่กี่ราย ในราคาที่ตํ่ากว่าราคาตลาดมาก เพื่อให้พรรคพวกตัวเองได้กำไรมาก แล้วมีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะตอนนั้นเราเล่นตัวเราไม่อยากเอาออกมาขาย รัฐบาลบอกว่า ถ้าไม่ขายราคาตลาดโลกจะสูงขึ้น แล้วตอนหลังเราจะไม่ขาดทุน ปรากฏว่า ราคาตลาดโลกไม่สูงขึ้น และยิ่งถือสต๊อกมากๆ ราคายิ่งร่วง มันขึ้นตอนต้นตอนที่ยังไม่ได้จำนำ แล้วเมื่อจำนำไปได้สัก 3-4 เดือน มันขึ้นๆ ขึ้นๆ มา

แต่หลังจากนั้น อินเดียซึ่งเคยห้ามส่งออกข้าว เลิกห้ามส่งออกข้าว ตั้งแต่นั้นมาราคาก็ดํ่าดิ่งลงมาเรื่อยๆ ซึ่งเราเก็บสต๊อกไว้เราก็ขาดทุน มูลค่าการส่งออกของเราลดลง เราสูญเสียตลาดส่งออกสำคัญๆ ของเรา อย่างตลาดฮ่องกง ตลาดอิรัก อิหร่าน เราเสียตลาดเพราะเราเสียชื่อ เพราะข้าวคุณภาพมันตํ่ากว่าที่คุยกันเอาไว้ โรงสีจำนวนมากลงทุนขยายกำลังการผลิต กำลังการสีอย่างมโหฬาร เชื่อหรือไม่ว่า วันนี้เรามีกำลังการผลิตทั่วประเทศปีหนึ่งเฉียดๆ 125 ล้านตัน จำนวนโรงสีไม่ได้เกิดเพิ่ม แต่กำลังการผลิตขยาย ที่รู้ได้ตรงนี้ เพราะเมื่อเทียบกับผลผลิตข้าวที่ปีหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 27-28 ล้านตัน แต่กำลังการผลิตอยู่ที่ 125 ล้านตัน คิดเป็น 4 เท่าตัว

ดังนั้น ตอนหลังๆ เราจึงเห็นโรงสีหลายแห่งกำลังจะเจ๊ง เพราะขยายกำลังการผลิตการสีข้าว เวลานั้นเกษตรกรหลายคนเลิกปลูกผัก ปลูกผลไม้ รื้อสวนรื้อไร่นา มาทำนา ตอนนั้นใช้นํ้าอย่างมโหฬารจนเป็นที่มาของปัญหานํ้าแล้งอย่างรุนแรง ซึ่งจริงๆ การเกิดเอลนิโญ เมื่อ 2 ปีที่แล้วนั้น สถานการณ์อาจจะไม่รุนแรงถึงขนาดนั้นถ้าไม่มีโครงการจำนำข้าว

TP14-3288-A **ชาวนาไม่ได้เงินค่าข้าวอื้อ
เมื่อมีโครงการจำนำข้าวแล้ว จำได้ไหมว่า ตั้งแต่ปี 2555-2556 เราปลูกข้าวนาปรังกันถล่มทลาย และต้องใช้นํ้าในเขื่อนจำนวนมาก เพราะมีการปลูกข้าวนอกฤดูกาลเพื่อเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว เพื่อนำมาขายในราคาแพง นี่คือสิ่งที่สูญเสีย เราเกิดการค้าขายแบบพรรคพวก ตอนนั้นพ่อค้าทั่วไปเจ๊ง โรงสีที่อยู่นอกโครงการต้องหยุดกิจการ เพราะไม่มีข้าว ไปหาซื้อก็ไม่ได้แพง ขายข้าวให้เฉพาะพรรคพวกตัวเอง ไม่กี่ราย ไปซื้อจากรัฐบาลในราคาถูกมาขายต่อในราคาแพง เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นระบบการค้าข้าวที่มีการแข่งขัน กลายเป็นการค้าระบบพรรคพวก นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้น

รวมถึงข้าวเสื่อมคุณภาพเพราะเก็บในคลังเป็นเวลานาน สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นในเวลานั้นทั้งนั้น และสุดท้ายปลายทางที่จำได้ก็คือ ในฤดูสุดท้าย ชาวนาจำนวนล้านคนไม่ได้รับเงินค่าข้าวทั้งๆ ที่นำข้าวไปส่งแล้ว ไม่ได้เงินถึง 125,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้ในตอนต้นเราคำนวณเอาไว้หลายเรื่อง แต่ที่ไม่ได้ศึกษาเอาไว้ก็ไม่คิดว่ารัฐบาลจะถังแตก และไม่คิดว่าจะมีการโกงการส่งข้าวเข้าโกดัง มากถึงขนาดนี้

**มีคำยืนยันจากรัฐบาลว่า โครงการรับจำนำข้าว ที่ดำเนินการมาทั้งหมด 4 โครงการผลประโยชน์
จากโครงการตกไปถึงมือเกษตรกรชาวนาเต็มๆ จริงหรือไม่ครับ

จริงครับ จริงแน่นอน ต้องให้เครดิตกับรัฐบาล โครงการนี้แตกต่างจากนโยบายอื่นๆ ทุกโครงการ ตรงที่ผลประโยชน์ตกแก่ชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อาจจะมีชาวนาบางคนจดทะเบียนมากเกินไปด้วยซํ้า ประการแรก คือ เกษตรกรที่เข้าโครงการขายข้าวได้ในราคาจำนำ คือ 15,000 บาทต่อตัน (หักค่าความชื้น)ได้ไปเต็มๆ

ประการที่ 2 คือ ชาวนานอกโครงการก็ได้ประโยชน์เนื่องจากรัฐบาลบอกว่าจะรับซื้อข้าวทุกเมล็ด ซึ่งในทางปฏิบัติซื้อประมาณครึ่งหนึ่งแต่มีผลยกระดับราคาข้าวในตลาด เพราะฉะนั้น ราคานอกโครงการก็ได้ประโยชน์จริง ทั้งหมดเกือบ 4 ล้านครัวเรือนได้ประโยชน์ ทางตรงคือ 1.7 ล้านที่เข้าโครงการ ปัญหาก็คือ ใครได้ประโยชน์ในหมู่ชาวนา ซึ่งก็คือ ชาวนาชั้นกลางกับชาวนารายใหญ่ได้ประโยชน์มาก ชาวนาที่เป็นเจ้าของที่นารายใหญ่ ชาวนาชนชั้นกลางที่มีที่นาปานกลาง

ซึ่งเมื่อเทียบคนกลุ่มนี้แล้วชาวนาชั้นกลางจะได้ประโยชน์มากที่สุด จำนวนก็มาก แต่ชาวนายากจน ซึ่งมีจำนวนมาก สัดส่วนประโยชน์ที่จะได้น้อยมาก อย่าลืมว่า เพราะว่าเราจำนำทุกเมล็ด ถ้าผมมีที่นายิ่งเยอะ ผมก็ได้ประโยชน์เยอะ เพราะมีที่นาเยอะ ทั้งๆ ที่คนที่เดือดร้อนจริงๆ คือชาวนายากจน คนกลุ่มนี้จะได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ นี่คือสิ่งที่
เกิดขึ้น
นอกจากชาวนาได้แล้วก็มีผู้บริโภคได้ เพราะรัฐบาลเจตนาขายข้าวในราคาตํ่า ซึ่งราคาข้าว(สาร) ก็ไม่ได้แพง
กว่าสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ หมายถึงราคาข้าวสารในตลาด เมื่อขายข้าวให้พรรคพวกตัวเองในราคา
ตํ่า เพราะฉะนั้นราคาในตลาดก็ถูก เพราะรัฐบาลกลัวมากหากราคาผู้บริโภคแพง ก็จะถูกผู้บริโภคถล่ม

ดังนั้น ผู้บริโภคได้ประโยชน์แต่ไม่มากนัก แต่ได้ประโยชน์ ต่อมาคือ พ่อค้าพรรคพวก ไม่ว่าจะเป็น จีทูจี (ปลอม) ซึ่งมี 6 สัญญา กับอีกส่วนหนึ่งที่เป็นการขายให้กับพรรคพวกตัวเอง ตรงนี้รวมกันประมาณเกือบ 90,000 ล้านบาทที่รับไปเต็มๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,288 วันที่ 17 -19 สิงหาคม พ.ศ. 2560