KBANK รุกค่าฟีฟันดิ้ง!

13 ส.ค. 2560 | 11:08 น.
กสิกรไทยตรึงเป้ารายใหญ่โต 4-6% หลังครึ่งปีแรกยอดปล่อยสินเชื่อฉลุย 8% พอร์ตคงค้างแตะ 5.53 แสนล้านบาท เหตุลูกค้าแห่ใช้เงินทุนหมุนเวียน-เทรดไฟแนนซ์ เดินกลยุทธ์ Best Transaction Banking เชื่อมช่องทางรับ-จ่ายเงินลูกค้า ดันค่าธรรมเนียมครึ่งแรกพุ่งเกือบ 6 พันล้านบาท

[caption id="attachment_131762" align="aligncenter" width="503"] สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย สุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

นายสุวัฒน์ เตชะวัฒนวรรณา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่มีแผนปรับเป้าการเติบโตสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ โดยยังคงเป้าหมายการเติบโตที่ 4-6% แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีสินเชื่อจะขยายตัวได้ค่อนข้างดี โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.53 แสนล้านบาท คิดเป็นเติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 5.11 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายละเอียดอัตราการเติบโตสินเชื่อพบว่าปัจจัยการเติบโตจะมาจากสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่ขยายตัวได้ค่อนข้างมาก โดยมีอัตราการเติบโต 8-9% เทียบกับระบบที่ขยายตัวได้ 7.8% ขณะเดียว กันธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศขยายตัวได้ดีเช่นกัน โดยมีอัตราการเติบโต 15% สอดคล้องกับภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ค่อนข้างดีจากในช่วงครึ่งปีแรกที่เติบโต 7%

ขณะที่รายได้รวมของสายธุรกิจขนาดใหญ่เติบโตได้ดีกว่าเป้าหมาย โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากสินเชื่อ หรือดอกเบี้ย 4,959 ล้านบาท และรายได้จากค่าธรรมเนียม 5,982 ล้านบาท จะเห็นว่าสัดส่วนรายได้ค่าธรรม เนียมสูงกว่ารายได้ที่เกิดจากสินเชื่อ เพราะธนาคารมุ่งเน้นในเรื่องของธุรกรรม นอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว สอดคล้องกับกลยุทธ์ Best Transaction Banking Provider เชื่อมโยงช่องทางการรับ-จ่ายเงินของลูกค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมลํ้าสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับลูกค้าและแวลูเชนของลูกค้า โดยเน้นการรองรับการทำธุรกรรมจำนวนมาก

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งเน้นการเป็น Best Funding Solution ตอบโจทย์ความต้องการเงินทุนของลูกค้าเพื่อการเติบโตธุรกิจผ่านรูปแบบการระดมทุนที่หลากหลาย และเข้าถึงนักลงทุนทุกประเภทเพื่อให้ลูกค้าได้ต้นทุนที่ดีที่สุด เช่น การปล่อยกู้ร่วม หุ้นกู้ระยะสั้น-ยาว กองทุนรวมอสังหา ริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ การควบรวมกิจการ (M&A) เป็นต้น ซึ่งเป็นการทำงานควบคู่ระหว่าง Banking และ Capital Market

ทั้งนี้ธนาคารมองแนวโน้มการระดมทุนผ่านช่องทางต่างๆ จะมีมากขึ้นตามทิศทางการลงทุนของภาครัฐที่ทยอยจะออกมาให้เห็นต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า อาทิ การลงทุนผ่านโครงการ EEC ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท หรือกองทุนภาครัฐมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีดีลการเสนอขายหุ้นใหม่ให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) มีประมาณ 3-4 ดีล และโครงการร่วมมือปล่อยกู้ร่วมวงเงินอีกหลายหมื่นล้านบาท รวมถึงการซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต้องยอมรับว่ามีทั้งสินเชื่อที่มีคุณภาพและสินเชื่อด้อยคุณภาพ แต่ปัจจุบันคุณภาพหนี้เอ็นพีแอลยังอยู่ในการควบคุมได้ โดยทั้งปีพยายามบริหารจัดการไม่ให้เกิน 2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.89% จากเอ็นพีแอลภาพรวมทั้งธนาคารอยู่ที่ 3.3%

อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ยังคงต้องระมัดระวังหรือน่าเป็นห่วง จะเป็นกลุ่มที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยไม่มีฐานเงินทุนหรือสภาพคล่องที่เพียงพอรองรับ เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ธนาคารบริหารความเสี่ยงโดยการกระจายพอร์ตอุตสาหกรรมเฉลี่ยไม่เกิน 12% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงหากเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางเช่นเดียวกับการตั้งสำรองหนี้สงสัยเผื่อจะสูญที่ธนาคารตั้งไว้พอสมควร ทำให้ฐานกองทุนธนาคารแข็งแกร่ง

“แนวโน้มธุรกิจและเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะเชื่อว่าจะเห็นการกระตุ้นจากภาครัฐผ่านการอนุมัติโปรเจ็กต์ลงทุนต่างๆ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเดินได้ โดยสินเชื่อเรายังคงอยู่ในกรอบ 4-6% ไม่ได้ปรับเปลี่ยน เพราะมีทั้งสินเชื่อระยะสั้นและยาว การระดมทุนผ่านแคปปิตอลมาร์เก็ต และกลยุทธ์การเชื่อมต่อธุรกรรมการเงิน จะช่วยให้รายได้เติบโตตามเป้าอย่างน้อย 3% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.14 หมื่นล้านบาท”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,287 วันที่ 13 -16 สิงหาคม พ.ศ. 2560